เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ครม. มีมติเห็นชอบอนุมัติให้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ขยายผล ‘โครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือ’ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส จากสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษานำร่อง จำนวน 12 แห่ง เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 30 แห่ง ทั่วประเทศ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการต่อเนื่อง 10 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2575
สำหรับ วิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาทั้ง 30 แห่ง มีดังนี้ 1. วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม จ.ราชบุรี 2. วิทยาลัยการอาชีพเสนา จ.พระนครศรีอยุธยา 3. วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี จ.เพชรบุรี 4. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี 5. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี 6. วิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง จ.สุโขทัย 7. วิทยาลัยเทคนิคแม่สอด จ.ตาก 8. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร จ.พิจิตร 9. วิทยาลัยสารพัดช่างอุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์ 10. วิทยาลัยการอาชีพเวียงสา จ.น่าน 11. วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี จ.ปัตตานี 12. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว จ.สระแก้ว 13. วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน 14. วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม จ.ลำปาง 15. วิทยาลัยการอาชีพป่าซาง จ.ลำพูน 16. วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ 17. วิทยาลัยการอาชีพห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ 18. วิทยาลัยการอาชีพขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ 19. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธร จ.ยโสธร 20. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด 21. วิทยาลัยการอาชีพศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู 22. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุดรธานี จ.อุดรธานี 23. วิทยาลัยการอาชีพนาแก จ.นครพนม 24. วิทยาลัยเทคนิคพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี 25. วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง จ.ลพบุรี 26. วิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี จ.นนทบุรี 27. วิทยาลัยการอาชีพหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช 28. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร จ.ชุมพร 29. วิทยาลัยการอาชีพตะกั่วป่า จ.พังงา และ 30. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีระนอง จ.ระนอง
โดย สำนักนโยบายและแผนการอาชีวศึกษา ได้จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครู Hands On โครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส รุ่นที่ 1 – 4 ร่วมกับ สถานศึกษาทั้ง 4 แห่ง ระหว่างวันที่ 11 ตุลาคม – 23 พฤศจิกายน 2565 ณ วิทยาลัยเทคนิคแม่สอด จ.ตาก วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร จ.พิจิตร วิทยาลัยสารพัดช่างอุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์ และวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง จ.สุโขทัย เพื่อพัฒนาครู Hands On จำนวน 160 คน ให้กลับไปเป็นบุคลากรหลักในการดำเนินงานโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส ในสถานศึกษาทั้ง 30 แห่ง ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพตรงตามมาตรฐานของโรงเรียนพระดาบส
นอกจากนี้ ในโครงการฯ ยังเน้นการดำเนินกิจกรรม “บ้านสร้างอาชีพ เลขที่ 910″ ที่เน้นส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ สามารถมองเห็นการเชื่อมโยงการฝึกทักษะอาชีพสู่การประกอบอาชีพได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถนำเอาประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำกิจกรรมในบ้านสร้างอาชีพไปใช้เป็นต้นแบบในการประกอบอาชีพได้ ถือเป็นจุดเด่น จุดหนึ่งของโครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส ที่ทาง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้คิดขึ้นและเป็นกลไกส่งเสริมการประกอบอาชีพได้จริงของผู้เรียนเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว รวมทั้งใช้เป็นสถานที่ฝึกภาคปฏิบัติด้านการประกอบอาชีพ ที่ทำให้ผู้เรียนมองเห็นภาพและจับต้องได้ เป็นการส่งเสริมการสร้างรายได้ระหว่างเรียนของผู้เรียนได้อีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้น จึงได้มีการส่งเสริมให้มีการจัดทำ “บ้านสร้างอาชีพ เลขที่ 910” ขึ้น ในสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ ทุกแห่ง เพื่อดำเนินกิจกรรมดังกล่าว