นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ประชุมมอบนโยบายแก่ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขตทั่วประเทศ “สพฐ. วิถีใหม่ วิถีคุณภาพ” ร่วมด้วย พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่มากล่าวถึงมาตรการป้องกันการพนันฟุตบอลโลก ผ่านทางระบบถ่ายทอดออนไลน์ OBEC Channel เมื่อเร็ว ๆ นี้
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สิ่งที่อยากสื่อสาร คือ เรื่องของความปลอดภัย อยากให้ ผอ.เขตได้ประเมินมาตรการหรือมาตรฐานความปลอดภัยของแต่ละเขตพื้นที่ ทั้งในส่วนของเขตและของโรงเรียนว่าตั้งแต่มีนโยบายด้านความปลอดภัยมา มีส่วนไหนที่สำเร็จไปแล้วบ้าง แล้วในปีหน้าเราจะพัฒนาเรื่องความปลอดภัยให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร รวมถึงเรื่องระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ที่เราได้ประกาศไปว่า ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาให้เป็นเดือนแห่งการเยี่ยมบ้านนักเรียน นั่นคือจุดเริ่มต้นของการประเมินนักเรียน โดยการเข้าถึงนักเรียนเป็นรายบุคคล ในเดือนธันวาคมก็จะเป็นเดือนแห่งการวิเคราะห์ โดยดูข้อมูลว่าจากการไปเยี่ยมบ้านนักเรียน มีเด็กกี่คนที่พึ่งตนเองได้ และกี่คนที่พึ่งตนเองไม่ได้ และเราจะมีวิธีการช่วยเหลือเขาได้อย่างไร ให้ถือเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเราเข้าถึงนักเรียนเป็นรายบุคคลได้ ก็จะเข้าถึงความปลอดภัย เข้าถึงการจัดการเรียนรู้ หรือการช่วยเหลือนักเรียนได้ ส่วนในเรื่องคุณภาพผู้เรียน ขอเน้นย้ำให้ปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงโดยคำนึงถึงตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยเบื้องต้นขอให้เด็กอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น มีทักษะชีวิตที่พึ่งพาตนเองได้ เป็นต้นทุน หากทำตรงนี้ได้แล้วค่อยไปต่อยอดความสามารถในด้านอื่น ๆ เพราะหากไม่มีพื้นฐานตรงนี้ ก็จะต่อยอดไปทางด้านอื่นได้ยาก เมื่อเข้าถึงนักเรียนเป็นรายบุคคลแล้ว พบจุดที่บกพร่องก็ต้องซ่อมเสริม ในเด็กที่ยังไม่มีความพร้อมก็ต้องเติมให้พร้อม ส่วนเด็กที่มีความพร้อมก็ต่อยอดไปสู่ความสำเร็จต่อไป
นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของ Soft Power วันนี้เรามีเด็กที่เก่งและดี แต่ไม่ได้รับการส่งเสริมเท่าที่ควร รวมถึงยังมีเด็กที่ขาดโอกาส แต่ก็พยายามที่จะเติบโตและเป็นคนดี วันนี้เราต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อเติมเต็มส่วนนี้ให้กับนักเรียนได้ ซึ่งเราจะไปถึงส่วนนั้นได้ เราต้องมีผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีคุณภาพ มีครูที่มีคุณภาพ เป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันศักยภาพของผู้เรียน รวมถึงการให้โอกาสคนเก่งคนดี มีโอกาสได้รับความก้าวหน้า และมีมาตรการลงโทษกำกับคนที่ไม่ดี ไม่มีความรับผิดชอบ ถ้าหากเราทำตรงนี้ได้ เราก็จะได้ผู้อำนวยการคุณภาพ ครูคุณภาพ แล้วก็จะส่งต่อไปที่คุณภาพของผู้เรียนในที่สุด
“สุดท้ายฝากเรื่องมาตรการป้องกันการเล่นพนันฟุตบอล โดยสิ่งที่อยากให้เขตพื้นที่และตำรวจในท้องที่ได้ร่วมมือกัน คือเรื่องของการป้องกัน กับเรื่องของการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้กับทุกฝ่าย ตั้งแต่นักเรียน ผู้ปกครอง คุณครูและบุคลากรการศึกษา เราต้องกระตุ้นส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้นักเรียน คุณครู ตลอดจนผู้ปกครองนักเรียนทุกคนได้ตระหนักถึงปัญหาหรือภัยที่อาจจะมาคุกคามจากการเล่นพนันฟุตบอลได้ หากนักเรียนได้รับรู้ข้อมูลในส่วนนี้ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้นักเรียนเข้าไปมั่วสุมกับการพนันฟุตบอลได้” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ทางด้าน พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีมาตรการป้องกันการเล่นพนันฟุตบอลใน 3 ด้าน คือ ด้านการป้องกัน การปราบปราม และการประชาสัมพันธ์ โดยในด้านการป้องกัน มีการ จัดกำลังทั้งในและนอกเครื่องแบบออกตรวจ บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน แจ้งเบาะแส ประชุมชี้แจงผู้ประกอบการ ตรวจสอบและเฝ้าระวังการกระทำผิดผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต ขอความร่วมมือไปยังสถานศึกษาทุกแห่ง ผู้ปกครองช่วยสอดส่องดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด และประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปรับทราบถึงโทษของการเล่นการพนัน ส่วนในด้านปราบปราม มีการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการลักลอบเล่นการพนันทายผลฟุตบอล เร่งรัดกวดขันปราบปรามจับกุมทุกรูปแบบอย่างจริงจังต่อเนื่อง กรณีจับกุมให้สอบสวนขยายผลผู้เกี่ยวข้องทุกราย ประสาน ปปง. ตรวจสอบ ยึด อายัด ตามกฎหมายฟอกเงิน นำมาตรการพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตมาบังคับใช้ และให้ บช.สอท. นำข้อมูลตรวจสอบ/เฝ้าระวัง มาสืบสวนขยายผลประสานปิดช่องทางสื่อสาร และในด้านการประชาสัมพันธ์ คือ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบโทษของการเล่นการพนันและผลที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมขอความร่วมมือ สถานศึกษา เจ้าของหอพัก บ้านเช่า สถานบริการ ร้านอินเทอร์เน็ต ร้านเกมส์ สถานประกอบการ มีมาตรการป้องกัน/สอดส่องดูแลมิให้มีการลักลอบเล่นการพนัน ขอความร่วมมือผู้ปกครอง สารวัตรนักเรียนช่วยสอดส่องดูแลบุตรหลาน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ หากพบผู้กระทำผิด สามารถแจ้งข้อมูล เบาะแส ผ่านทางสายด่วน 191 และ 1599 ได้ทันที
ด้าน นายธีร์ ภวังคนันท์ กล่าวถึง การแข่งขันในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ซึ่งมีกิจกรรมการแข่งขันทั้งหมด 18 กลุ่มสาระ ใน 4 ประเภท ได้แก่ วิชาชีพ วิชาการ ศิลปะ และเทคโนโลยี มีการจัดนิทรรศการที่แสดงถึงความน่าสนใจของประวัติศาสตร์และ Soft Power ของแต่ละจังหวัดในภูมิภาค มีกำหนดจัดการแข่งขัน ภาคใต้ จังหวัดสตูล วันที่ 18-20 มกราคม 2566 ภาคกลางและตะวันออก จังหวัดราชบุรี วันที่ 25-27 มกราคม 2566 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดร้อยเอ็ด วันที่ 30 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2566 และภาคเหนือ จังหวัดน่าน วันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ 2566 รวมถึงเรื่องการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมด้วย