เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อยกระดับการพัฒนาการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ในการผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับภาคอุตสาหกรรมในอนาคต โดยมี นายรัตนะ สวามีชัย เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ, นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, นายถาวร ชลัษเฐียร รองสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, นายสราวุฒิ อยู่วิทยา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษา, นายอภิศักดิ์ อังคสิทธิ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ, นางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์ รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมลงนาม และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวรายงาน
นางสาวตรีนุช เทียนทอง กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการอาชีวศึกษา โดยเฉพาะเรื่อง “ทวิภาคี” ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการต้องการให้อาชีวศึกษาทุกแห่งสร้างความร่วมมือในการพัฒนาการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเอาโรงงานมาเป็นโรงเรียน ทำหลักสูตรร่วมกัน เพื่อพัฒนาคนกับภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ให้สอดรับไปในทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือกับ 5 องค์กรหลักด้านเศรษฐกิจของประเทศในครั้งนี้ จะมีการตั้งองค์คณะ ตั้งแต่ระดับส่วนกลาง และระดับภูมิภาค เพื่อให้เกิดความร่วมมือในแต่ละจังหวัด บางจุดที่ภาคธุรกิจยังขาดแคลนอยู่ในเรื่องของสถานประกอบการ ก็จะมีหน่วยงานกลางเป็นเหมือนพี่เลี้ยง ช่วยสนับสนุนและดูแลตามความต้องการของภาคเอกชน และจะจับคู่กับภาคธุรกิจให้ตรงกับเป้าหมายของการพัฒนาผู้เรียนต่อไป
ทั้งนี้ ความร่วมมือระบบทวิภาคี แต่ละพื้นที่ต้องตั้งเป้าหมายภายใต้บริบทของตัวเอง เช่น ชลบุรี ระยอง หลายแห่งเกิดความร่วมมือในระบบทวิภาคีกว่า 50% แล้ว บางแห่ง 80% ส่วนบางพื้นที่ที่ไม่มีความพร้อมในสถานประกอบการ เราจะต้องมาช่วยกัน ซึ่งเครือข่ายความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นส่วนเชื่อมโยงการศึกษาระดับภูมิภาค ไม่ใช่เฉพาะความร่วมมือในการทำงานเท่านั้น แต่รวมถึงการพัฒนาหลักสูตร เทคโนโลยี และพัฒนาครู เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษามีความต้องการยกระดับความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ในการผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับภาคอุตสาหกรรม สนับสนุนการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาประเทศไทยให้มีกำลังคนสมรรถนะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต รวมทั้งแผนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่มุ่งหวังให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 มีความพร้อมร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ขอบคุณข้อมูลจาก https://bit.ly/3vmMpbn