ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ดำเนินโครงการอาชีวะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนเพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ โครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ โดยนำร่องในสถานศึกษาสังกัด สอศ.จำนวน 88 แห่ง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ระยะที่ 1) ก่อน แล้วให้กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินโครงการระยะที่ 1 อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ทาง สอศ.ได้เสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แต่ไม่ได้รับการพิจารณาในขั้นกรรมาธิการ จึงไม่มีงบฯดำเนินโครงการฯในปีงบฯ 2566
ซึ่งสำนักงบประมาณได้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลางรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 99,960,000 บาท เสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯ ได้พิจารณาแล้ว เห็นชอบให้ ศธ. โดย สอศ.ใช้จ่ายจากงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายปีงบฯ 2566 ได้จำนวน 97,680,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนในโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ โดยเบิกจ่ายในงบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป ส่วนค่าบริหารจัดการ จำนวน 2,280,000 บาท ให้ สอศ. ไปดำเนินการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบฯ 2566 ต่อไป
โครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ นำร่องระยะที่ 1 ในสถานศึกษาสังกัด สอศ. จำนวน 88 แห่ง เป็นวิทยาลัยเทคนิค 2 แห่ง วิทยาลัยการอาชีพ 39 แห่ง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 47 แห่ง มีนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในโครงการฯ รวมประมาณ 4,000 คน โดยนักศึกษาจะได้รับฟรี ทั้งการเรียน ที่พัก อาหาร ครูดูแลหอพัก และกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต ซึ่งขณะนี้ ศธ.ได้จัดทำรายงานการติดตามและประเมินผลโครงการฯ เบื้องต้นแล้ว ซึ่งจะได้นำเสนอ ครม. รับทราบเพื่อพิจารณาขยายผลการดำเนินโครงการฯ และขอรับการสนับสนุนงบประมาณในปีต่อ ๆ ไป ซึ่งโครงการนี้สามารถช่วยเหลือเยาวชนในกลุ่มที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา และกลุ่มที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ยากจน และอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคม ด้วยความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ และมีความเท่าเทียมกันทางด้านการศึกษาในอนาคต