ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมภายใต้แบรนด์ “เฮ็ดดิ” จากฝีมือของคนพิการในชุมชนจาก 7 หมู่บ้านใน ต.เต่างอย อ.เต่างอย จ.สกลนคร ที่ได้รับการอบรมบ่มเพาะทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ “หลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพคนพิการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)” เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้ที่ชื่นชอบงาน Craft และคนในพื้นที่มากขึ้น ล่าสุด เตรียมผลักดันไปสู่การจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนขึ้นภายในปี 2566 เป็นการสนับสนุนของ มจธ. ในเชิงการสร้างอาชีพให้คนพิการ และใช้เป็นโมเดลนำร่องให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
ผศ. ดร.บุษเกตน์ อินทรปาสาน อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. กล่าวว่า หลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น จ.สกลนคร ปีนี้เป็นปีที่ 2 มีคนพิการเข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 12 คน ประกอบด้วยคนพิการทางการได้ยิน ด้านการเคลื่อนไหว และทางด้านการเรียนรู้ ฝึกอบรมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงธันวาคม 2565 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมาตรา 35 โดยคนพิการจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และได้รับเบี้ยเลี้ยง อาหารกลางวัน และค่าเดินทางตลอดระยะเวลาในการฝึกอบรม
ผศ. ดร.บุษเกตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรการพัฒนาศักยภาพคนพิการจัดขึ้นในพื้นที่บ้านนางอย ต.เต่างอย อ.เต่างอย จ.สกลนคร เนื่องจากเป็นที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้ของ มจธ. ที่ต้องการผลักดันให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้และขยายผลออกไป โครงการนี้มีแผนการดำเนินงานในพื้นที่ 3 ปี โดยในรุ่นแรก (พ.ศ. 2564) เป็นการเรียนรู้ร่วมกันของอาจารย์ มจธ. พี่เลี้ยง และชุมชน ลองผิดลองถูกร่วมกัน ฝึกอบรมคนพิการด้านการถักทอ การย้อมสี การออกแบบลวดลาย, รุ่นที่ 2 (พ.ศ. 2565) เป็นการ Train the Trainer คือ มีคนพิการจากรุ่นแรกที่สนใจเข้ารับการอบรมเพิ่มเติมในส่วนของการตลาด และยังทำหน้าที่เป็นผู้สอนคนอื่นต่อ และรุ่นที่ 3 (พ.ศ. 2566) จะเป็นการสร้างผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Leadership) เป้าหมายเพื่อไปสู่การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเฮ็ดดิ ภายในปี 2566 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยมีสมาชิกกลุ่มคนพิการที่ผ่านการบ่มเพาะในหลักสูตรร่วมกันบริหารจัดการให้ยั่งยืนต่อไป และเมื่อจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเรียบร้อยแล้ว มจธ. จะยังคงเป็นพี่เลี้ยง และเป็นที่ปรึกษาต่อไปอีก 2 ปี เพื่อให้กลุ่มเกิดความเข้มแข็ง ก่อนที่จะนำ “เฮ็ดดิโมเดล” นี้ออกไปขยายผลสู่ชุมชนหรือพื้นที่อื่นๆ ที่สนใจนำไปประยุกต์ใช้ โดยมีพื้นที่ที่สนใจติดต่อมา อาทิ อบต.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และ ฮาลาบาลา จ.นราธิวาส เป็นต้น
ด้าน ผศ.วรนุช ชื่นฤดีมล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า การฝึกอบรมของคนพิการรุ่นที่ 2 ระยะเวลาการฝึกอบรม 600 ชั่วโมงต่อคน มีคนพิการที่ผ่านการอบรมทั้งสิ้น 11 คน การฝึกอบรมในรุ่นนี้เน้นการย้อมสีธรรมชาติจากพืชพันธุ์ท้องถิ่น เช่น ลิ้นฟ้า ฝักคูน ใบสัก สาบเสือ หูกวาง เพื่อให้ได้สีสันที่มีเอกลักษณ์ให้กับสินค้ามากขึ้น รวมถึงการสอนพื้นฐานความเป็นผู้ประกอบการ เช่น การจดบัญชี การทำการตลาด (ตั้งราคา การวิเคราะห์ตลาด โพสต์ขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์) สอนโดยอาจารย์ศิริวัฒน์ คันทารส และอาจารย์ศิริพัฒน์ กล่ำกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ ส่งผลให้ระยะเวลาช่วงฝึกอบรมรุ่นที่ 2 มีรายได้จากยอดการสั่งทำผลิตภัณฑ์เฮ็ดดิกว่า 110,000 บาท รวมทั้งยังมีรายได้จากการจัดทำ workshop ให้กับนักเรียนจากประเทศสิงคโปร์ในการทำไม้กวาด ถักเชือก การย้อมสี รวมกว่า 10 วัน ภายใต้ Oversea Immersion Program ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง มจธ. กับ Nanyang Academy of Fine Arts เพื่อนำผลงานไปต่อยอดจัดนิทรรศการที่ประเทศสิงคโปร์ต่อไป
ส่วนในรุ่นที่ 3 (พ.ศ. 2566) ขณะนี้มีคนพิการสมัครเข้ามาเต็มแล้ว จำนวน 12 คน เป็นรุ่นเก่า 4 คน และรุ่นใหม่ 8 คน จะปรับเปลี่ยนหลักสูตรเป็น“การอบรมหลักสูตรนักพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเพื่อท้องถิ่น” เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบไม่เฉพาะงานหัตถกรรม เช่น อาหารแปรรูป และของใช้ ที่เป็นสิ่งที่คนพิการเข้าร่วมโครงการสนใจ แต่ยังคงเน้นผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติในพื้นที่ เน้นการสร้างผู้ประกอบการ การจัดบทบาทหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานในรูปแบบวิสาหกิจ เช่น ผู้จัดการ การตลาด การตรวจสอบคุณภาพสินค้า จัดซื้อ สต็อกสินค้า การเงิน และพีอาร์ เป็นต้น
“แม้ว่าการทำงานของ มจธ. จากรุ่นที่ 1 และกำลังเปิดในรุ่นที่ 3 ถือเป็นงานที่หนักและท้าทาย แต่เชื่อว่าการมีกลุ่ม “เฮ็ดดิ” จะทำให้คนพิการที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ได้พัฒนาศักยภาพที่ตัวเองมีอยู่ มีรายได้ มีโอกาสเข้ามารวมกลุ่มได้มาทำอะไรด้วยกัน และสามารถเป็นอาชีพต่อไปข้างหน้าได้ด้วย” ผศ.วรนุช กล่าว
สำหรับผู้สนใจผลิตภัณฑ์ “เฮ็ดดิ” สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/Heddicrafts