เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 66 ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานมอบโล่ห์รางวัลสถานศึกษาอาชีวศึกษาต้นแบบการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ให้แก่สถานศึกษา 9 แห่ง (เรียงตามลำดับคะแนน) ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาร้อยเอ็ด วิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี วิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ วิทยาลัยเทคนิคนครโคราช วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุพรรณบุรี วิทยาลัยการอาชีพลอง วิทยาลัยเทคนิคสงขลา และ วิทยาลัยอาชีวศึกษาชลบุรี ณ โรงแรมชูชัยบุรี ศรีอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้ความสำคัญกับการบริหารงานด้วยความโปร่งใส ไร้ทุจริต ตามนโยบายของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาล และป้องกันปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบในภาครัฐ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สอศ. มีผลการประเมิน ITA 88.92 คะแนน อยู่ในระดับ A และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีแผนจะขยับผลคะแนนให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้แทนจากส่วนงานต่าง ๆ ที่ได้เข้าร่วมประชุมในวันนี้ จะมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับเกณฑ์การประเมิน ซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนการประเมิน (ITA ) ให้สามารถบรรลุเป้าหมายสู่คะแนน ร้อยละ 90 ขึ้นไป
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อว่า สอศ.จึงได้ให้หน่วยศึกษานิเทศก์ ร่วมกับ ศูนย์นิติการและธรรมาภิบาลอาชีวศึกษา (กลุ่มงานวินัย) และ วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม จัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ภายใต้ โครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถานศึกษา แผนงานบูรณาการการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐ (ITA) และชี้แจงแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้อง สอดคล้องตามแผนแม่บทที่ 21 ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ และเป็นการยืนยันในการไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชัน และร่วมกันสร้างวัฒนธรรมความซื่อสัตย์สุจริตให้เกิดขึ้นในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์สุข และความเท่าเทียมกันในสังคม