เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือคัดเลือกกำลังคนอาชีวศึกษา เพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมี นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร และ เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และคณะผู้บริหารทั้งสองฝ่าย ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษาอาชีวะ ซึ่งเป็นกำลังคนที่มีความรู้ ทักษะทางวิชาชีพ และคนที่มีสมรรถนะสูง เป็นคนดี มีฝีมือ มีงานทำทันทีหลังจบการศึกษา และได้นำความรู้ความสามารถไปพัฒนาประเทศ สอศ. จึงได้ร่วมมือกับ กทม. จัดทำโครงการการคัดเลือกกำลังคนอาชีวศึกษาเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ทั้งภาครัฐ และเอกชน ระดับ ปวช. และ ปวส. ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี สถาบันอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา วิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์ (ลาดขวาง) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีฉะเชิงเทรา วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ วิทยาลัยเทคนิคนครนายก วิทยาลัยการอาชีพนครนายก วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี วิทยาลัยเทคนิคอ่างทอง
และ สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคกลาง ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยนาท วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลพบุรี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศูนย์ศิลปาชีพบางไทร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสิงห์บุรี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีฉะเชิงเทรา ที่สำเร็จการศึกษาระหว่างปี 2563 – 2565 เพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ 10 ตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าพนักงานการเกษตร เจ้าพนักงานการเงินบัญชี เจ้าพนักงานธุรการ เจ้าพนักงานสื่อสาร นายช่างเครื่องกล นายช่างไฟฟ้า นายช่างเทคนิค นายช่างโยธา นายช่างสำรวจ และ พนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมจำนวน 559 อัตรา โดยจะเริ่มเปิดรับสมัครระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2566
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อว่า ในระยะต่อไป ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2569 สอศ. และ กทม. จะดำเนินการวางแผนจัดการศึกษาผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวะให้ตรงกับความต้องการ หรือ ตำแหน่งงาน ที่ กทม. ขาดแคลน ในรูปแบบของการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ซึ่งจะได้มีการหารือในรายละเอียดต่อไป เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าทำงาน เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพที่มั่นคง ให้กับนักเรียนนักศึกษาอาชีวะในอนาคต
ด้าน นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม. มีนโยบายเพิ่มช่องทางการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ กรณีพิเศษ โดยไม่ต้องสอบแข่งขัน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลัง โดยเน้นความคล่องตัวในการดำเนินการสรรหาและเลือกสรรเพื่อให้หน่วยงานได้บรรจุบุคคลตรงตามความต้องการได้ในเวลาอันรวดเร็ว จึงมองเห็นถึงศักยภาพ สมรรถนะของกำลังคนอาชีวศึกษา พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรอาชีวศึกษาได้มีโอกาสเข้ารับราชการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ และเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ในการพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของกรุงเทพมหานครต่อไป