เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) นำโดย นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการฯ และคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมความคืบหน้าโครงการ Smart Campus ด้วยเทคโนโลยี 5G ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยได้ชมการทำงานของห้องเรียน Intelligent Hybrid Classroom และระบบวิเคราะห์ Attention & Learning Engagement รวมถึงการทำงานของนวัตกรรมที่ถูกประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยี 5G ซึ่งผลการดำเนินงานชี้ให้เห็นถึงความพร้อมในการนำร่องให้สถานศึกษาและองค์กรต่าง ๆ สามารถนําไปทำซ้ำ ทำเสริม พัฒนาต่อยอดต่อไป
ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา DPU มีการปรับตัวพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการผลิตกำลังคนให้มี Skill Set และ Mindset ที่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก มุ่งสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพพร้อมด้วยทักษะสำคัญแห่งอนาคต (Future Workforce) สำหรับโครงการ Smart Campus 5G ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สดช. นอกจากจะผลักดันให้ DPU เป็น Smart Campus ต้นแบบนำร่องในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G กับภาคการศึกษา ยังเป็นการสร้างให้นักศึกษามีแรงบันดาลใจในการเป็นนวัตกร (Innovator) รวมทั้งขยายโอกาสทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับผู้ประกอบการ หน่วยงาน และชุมชน ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอีกด้วย
ทั้งนี้ ภายใต้โครงการ Smart Campus มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ออกแบบและพัฒนาโครงข่าย 5G และ WiFi6 ครอบคลุมทั่วพื้นที่ของมหาวิทยาลัย และพัฒนาห้องเรียน Intelligent Hybrid Classroom ที่สนับสนุน Active & Blended Learning พร้อมติดตั้งระบบ AI เพื่อวิเคราะห์ Attention & Learning Engagement เพื่อการวิจัยชั้นเรียน นำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพการจัดการเรียนการสอนที่ดีขึ้น และสามารถเชื่อมโยงกับ Gamification ส่งเสริม Positive Learning Behavior ให้กับผู้เรียน
พร้อมกันนี้ ยังจัดพื้นที่มหาวิทยาลัยเป็น Living Lab ให้นักศึกษา อาจารย์ และหน่วยงานพันธมิตร ร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งภายใน Campus และขยายไปสู่สังคม อาทิ สร้างระบบ IoT (Internet of Things) ที่ใช้ในการบริหารจัดการพลังงานแบบ Real-Time พัฒนาหุ่นยนต์ Security Patrol Robot ที่ใช้ในด้านรักษาความปลอดภัยในพื้นที่มหาวิทยาลัยฯ ไปจนถึงการพัฒนา VR Learning Space และ Online Course เพื่อให้เป็น Active Learning Environment ที่เชื่อมโยงและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกันลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ควบคู่กับ การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ
ด้าน นายสัญญา เศรษฐพิทยากุล ผู้ช่วยรองอธิการบดี สำนักดิจิทัลการศึกษาและบริการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า 5G เป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย และจะเป็นสิ่งสำคัญที่ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยในแง่ของความเป็น Smart Campus ควรสร้างประโยชน์ให้ผู้เรียนสามารถ Connect กับการเรียนรู้แบบ Anywhere Anytime ภายใต้การลงทุนที่คุ้มค่า ซึ่งในอนาคต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มีแผนพัฒนาต่อยอดและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับองค์กรต่าง ๆ รวมถึงสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ต่อไปในอีกหลาย ๆ ด้าน