ศศินทร์ จุฬาฯ เสนอไอเดียการปันผลประชากรระยะที่ 3 หนุนประเทศไทยรับมือสังคมสูงวัยอย่างมั่นคง

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงวัยจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นถึง 1 ใน 5 ของประชากรโลก ในส่วนของประเทศไทยในปี 2562 มีอัตราการเกิดลดต่ำลงเหลือเพียง 6.1 แสนคน ขณะที่ จำนวนผู้สูงวัยวัยปลาย อายุ 80 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็น 1.3 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่า ในปี 2565 ประเทศไทยจะเข้าสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยจะมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในอัตราร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และคาดว่า ในปี 2576 จะเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” คือ มีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในอัตราร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ดังนั้น การให้ความสำคัญกับกลุ่มคนสูงวัยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ผศ.ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ สาขาวิชาการเงิน สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า อนาคตสังคมสูงวัยในประเทศไทยอาจจะไม่ได้น่าวิตกกังวลอย่างที่คาดการณ์กัน หากมีการเปลี่ยนมุมมองต่อผู้สูงวัยให้เป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าของสังคม การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยสามารถสดใสได้มากกว่านี้ และผู้สูงวัยจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศได้ด้วยสองแนวคิดใหม่ ได้แก่ แนวคิดที่ 1 การปันผลทางประชากรระยะที่ 3 ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ที่องค์การสหประชาชาตินำเสนอขึ้นมา เพื่อเป็นแนวคิดสำคัญสำหรับการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมสูงวัย เราต้องมองว่า ผู้สูงวัยสามารถเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าให้กับประเทศ และอาจเป็นทรัพยากรหลักที่ขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และ แนวคิดที่ 2 คือ การสะกิดใจให้คนไทยเป็นผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดี ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่เป็นเรื่องที่ทำยาก เนื่องจากทุกคนยังไม่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้อย่างแท้จริง

หลายคนเวลามองเรื่องสังคมสูงวัยมักจะมองในเชิงลบ โดยมองว่าผู้สูงวัยเยอะจะทำให้ไม่มีคนทำงาน มีค่าใช้จ่ายทางสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น ทางทีมวิจัยจึงได้นำเสนอแนวคิดการปันผลทางประชากรระยะที่ 3 เพื่อทำให้ผู้สูงวัยสามารถกลายเป็นพลังที่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจได้ ซึ่งประกอบด้วย 3 แนวคิด ดังนี้

แนวคิดที่ 1 ต้องเปลี่ยนแนวคิดว่าผู้สูงวัยถึงแม้ร่างกายถดถอยลงตามอายุ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงาน จริงอยู่ว่ามีหลายอาชีพที่ต้องใช้ร่างกายในการทำงาน แต่ก็มีหลายอาชีพที่อาศัยทักษะอื่นในการทำงาน ซึ่งหลายทักษะนั้นก็ได้พัฒนาเพิ่มขึ้นตามอายุของการทำงาน ไม่ใช่ทุกงานที่จะต้องพึ่งร่างกายอย่างเดียว ยังมีงานอีกหลายงานที่ยังสามารถพึ่งผู้สูงวัยได้อยู่

แนวคิดที่ 2 เทคโนโลยีสามารถจะเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้อุปสรรค หรือ ขีดจำกัดในการทำงานของผู้สูงวัยหายไป เช่น การใช้ระบบ Zoom ก็จะช่วยลดปัญหาในการเดินทางไปทำงานของผู้สูงวัยได้ นอกจากนี้ เทคโนโลยี automation technology ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ AI แม้กระทั่งระบบ 5G 6G ก็สามารถเข้ามาช่วยลดอุปสรรค ความลำบากทางด้านร่างกาย และความคิดในการทำงานของผู้สูงวัยได้

แนวคิดที่ 3 ผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดีสามารถใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมจากการทำงานมาทั้งชีวิต ผันตัวเองมาเป็นจิตอาสาช่วยเหลือโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ได้เป็นอย่างดี

ผศ.ดร.ปิยะชาติ กล่าวต่อว่า การทำให้ประชากรสูงวัยในอนาคตมีสุขภาพดีเป็นสิ่งที่ทุกคนและทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ผู้สูงวัยที่มีความรู้มีความสามารถ มีสุขภาพที่ดี จะสามารถช่วยลูกหลานและช่วยประเทศชาติได้ การช่วยเหลือสังคมของผู้สูงวัยอาจไม่จำเป็นต้องเป็นการทำงานแลกด้วยเงิน แต่เป็นการเข้าร่วมโครงการจิตอาสาต่าง ๆ ซึ่งสามารถสร้างคุณค่าได้อย่างมาก

นอกจากนี้ แนวคิดการสะกิดใจให้คนไทยเป็นผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดี จะเป็น “วิธีใหม่” ในการช่วยให้ประชากรสูงวัยในอนาคตมีสุขภาพดี สาเหตุสำคัญเป็นเพราะว่า หลายคนมักเชื่อว่าการ “บอก” หรือ การให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ (ซึ่งเป็น “วิธีเก่า”) น่าจะเพียงพอในการจูงใจให้คนส่วนใหญ่ดูแลสุขภาพ แต่ในความเป็นจริงแล้ว แนวคิดนี้กลับไม่มีประสิทธิภาพในการจูงใจให้คนดูแลสุขภาพ เพราะอุปสรรคที่แท้จริงไม่ใช่ว่าไม่รู้ว่า แต่ “รู้ทั้งรู้” ว่าควรทำอะไร แต่ก็ทำไม่ได้ แนวคิดการสะกิดใจ คือ การทำความเข้าใจธรรมชาติ และอุปสรรค (ทางความคิด) ที่แท้จริง ที่ทำให้คนเราไม่สามารถเลือกสิ่งที่ควรเลือกได้ ซึ่งอุปสรรค (ทางความคิด) เหล่านี้อาจฟังดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่สิ่งเหล่านี้กลับมีความสำคัญอย่างมากต่อการตัดสินใจของคนเรา เช่น คนเรามักจะลืม หรือ คนเรามักจะกลัวการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าเราใช้ความเข้าใจในอุปสรรค (ทางความคิด) เหล่านี้ออกแบบแนวทางการสะกิดใจ เช่น การมีอุปกรณ์ที่ช่วยเตือนให้เราทำในสิ่งที่เราควรทำ หรือ การทำให้สิ่งที่ดี (เช่น อาหารที่ดีต่อสุขภาพ) เป็นทางเลือกตั้งต้น (ซึ่งคนเรามักจะกลัว หรือ ขี้เกียจเปลี่ยน) ก็จะสามารถช่วยสะกิดใจและแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้

“สังคมสูงวัยมาแน่ อยู่ที่ว่าเราจะทำให้สังคมสูงวัยเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศได้ด้วยการสะกิดใจให้ทุกคนช่วยกันเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ก็อาจเปลี่ยนสังคมสูงวัยให้เป็นพลังของประเทศได้” ผศ.ดร.ปิยะชาติ กล่าวทิ้งท้าย

RANDOM

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!