นักธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ พบ “หลักฐานใหม่บนเขาพนมรุ้ง” ยืนยัน พื้นที่เขาพนมรุ้งมีสิ่งปลูกสร้างโบราณซ่อนอยู่

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ สำรวจพบวัสดุแปลกปลอม คาดว่าน่าจะเป็น “อิฐเผา” กลางป่าเขาพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า “บนเขาพนมรุ้งไม่ได้มีแค่ปราสาทหินพนมรุ้งเพียงอย่างเดียว แต่มีสิ่งปลูกสร้างโบราณซ่อนอยู่”

จากการค้นพบวัสดุใหม่ดังกล่าว เกิดจากการลงพื้นที่สำรวจเขาพนมรุ้ง โดย ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และคณะนักวิจัย ผู้สนใจศึกษาด้านโบราณคดีผ่านข้อมูลโทรสัมผัส (Remote Sensing) และภูมิสารสนเทศ (GIS) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ค้นพบ ร่องรอยสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่เขาพนมรุ้ง อุทยานประวัติศาสตร์ของไทยที่มีอายุเก่าแก่นับพันปี

ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ ให้ข้อมูลว่า ในทางธรณีวิทยา เขาพนมรุ้งเป็นภูเขาไฟยุคใหม่ (ยุคควอเทอร์นารี) ที่เกิดจากลาวาประทุเมื่อประมาณ 1 ล้านปีก่อน ซึ่งจากการสำรวจชนิดหินของนักธรณีวิทยาได้ข้อสรุปว่า เขาพนมรุ้งเกิดขึ้นเนื่องมาจากการไหลหลากทับถมกันของลาวาที่มาจากแมกมาสีเข้ม (mafic magma) ซึ่งเมื่อลาวาเย็นตัวลง หินที่เป็นไปได้บนเขาลูกนี้จึงควรมีแค่ชนิดเดียว คือ หินบะซอลต์ (basalt)

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศ.ดร.สันติ และ ทีมนักวิจัย ได้เดินสำรวจป่าบนเขาพนมรุ้ง และพบว่า นอกจากจะพบหินบะซอลต์จำนวนมากแล้ว ยังพบวัสดุแปลกปลอมใหม่ที่ไม่ใช่หินบะซอลต์ในพื้นที่ แต่มีลักษณะคล้ายปูนซีเมนต์ที่ผุกร่อน เพื่อพิสูจน์ว่าวัสดุดังกล่าวคืออะไร ศ.ดร.สันติ จึงมอบหมายให้ น.ส. นพมาศ ฤทธานนท์ นิสิตภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาฯ นำตัวอย่างวัสดุบางส่วนไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการโดยเครื่องมือวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ที่เรียกว่า เครื่องวิเคราะห์การเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ (X-ray Diffractometer หรือ XRD) ซึ่งสามารถวิเคราะห์สมบัติเชิงโครงสร้างของวัสดุได้ โดยไม่ต้องทำลายตัวอย่าง ผลจากการวิเคราะห์ บ่งชี้ว่า วัสดุดังกล่าวประกอบไปด้วย แร่ควอตซ์ (Quartz) หรือ ตะกอนทราย และส่วนใหญ่ที่พบ คือ แร่ดิน (Clay Mineral) หรือ ดินเหนียว ที่เชิงอุตสาหกรรม เรียกว่า ดินเกาลิน (Kaolin) ที่ปัจจุบันนำมาใช้ปั้นถ้วยชามเซรามิก

นอกจากนี้ ศ.ดร.สันติ และทีมสำรวจ ได้สำรวจพื้นที่ราบโดยรอบเขาพนมรุ้ง พบบ่อน้ำชาวบ้านที่เพิ่งขุดใหม่ แสดงให้เห็นการลำดับชั้นหินในพื้นที่ โดยชั้นล่างสุด คือ หินทรายแป้งสีแดง ถัดขึ้นไปชั้นกลาง คือ ดินเกาลินสีขาว และ ชั้นบนสุด คือ ดินสีดำ ที่เกิดจากการผุพังของหินบะซอลต์บนเขาพนมรุ้ง และไหลมาสะสมตัวปิดทับพื้นที่นี้ในภายหลัง จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่บอกว่า “ดินเกาลินที่ใช้สร้างสิ่งก่อสร้างบางอย่างบนเขาพนมรุ้ง สามารถหาได้ง่ายในพื้นที่”

ศ.ดร.สันติ กล่าวว่า จากการถ่ายภาพเนื้อวัสดุแบบความละเอียดสูงด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบสแกนนิง (Scanning Electron Microscope : SEM) สามารถแสดงรายละเอียดของโครงสร้างภายนอก หรือ ผิวของตัวอย่างแบบ 3 มิติ ได้อย่างชัดเจน พบผลึกควอตซ์เม็ดใหญ่ ที่ล้อมรอบด้วยดินเกาลินที่มีพื้นผิวไม่เรียบ เมื่อเปรียบเทียบกับงานวิจัยในอดีต ที่รายงานความแตกต่างของเนื้อดินเกาลินที่สัมพันธ์กับอุณหภูมิที่ได้รับ สรุปได้ว่า ดินเกาลิน หรือ วัสดุแปลกปลอมบนเขาพนมรุ้ง ได้รับการเผาด้วยอุณหภูมิประมาณ 700 – 800 องศาเซลเซียส และจากการศึกษาอย่างรายละเอียดในห้องปฏิบัติการ ผ่านเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง อนุมานได้ว่า วัสดุดังกล่าวน่าจะเป็น “อิฐเผา”

“เมื่อลงพื้นที่สำรวจอีกครั้งในภายหลัง พบหลักฐานชิ้นสำคัญ คือ ก้อนวัสดุใหม่แสดงทั้งความผุและไม่ผุอยู่ในก้อนเดียวกัน ส่วนที่ผุมีสีขาว ส่วนที่ยังไม่ผุมีสีส้มอมดิน เหมือนอิฐมอญในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังพบร่องรอยรูขนาดเล็ก และแนวเส้นใยเล็ก ๆ ที่ชอนไชอยู่ในเนื้อก้อนดิน หรือ อิฐดังกล่าว จึงสันนิษฐานว่า ในกระบวนการผลิตวัสดุดังกล่าว น่าจะมีการผสมเศษฟางเศษหญ้าเข้ามาปั้นเป็นก้อนดินนั้นด้วย จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยยืนยันว่า กลางป่าพนมรุ้งมีสิ่งปลูกสร้างโบราณซุกซ่อนอยู่ ไม่ได้มีแค่ปราสาทหินพนมรุ้งเพียงอย่างเดียว” ศ.ดร.สันติ กล่าว

รายชื่อทีมสำรวจ : สันติ ภัยหลบลี้, นพมาศ ฤทธานนท์, กังวล คัชชิมา, สมบัติ มั่งมีสุขศิริ, อุเทน วงศ์สถิตย์, ปัญญา นากระโทก, จักรกริช อุดรพิมพ์, ตามศักดิ์ วงศ์มุนีวร, และ สิทธิโชค โตวิริยะกุล

RANDOM

ศูนย์การจัดการทรัพยากรของมหาวิทยาลัย จุฬาฯ ขยายเวลารับสมัคร “เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ (ระบบคอมพิวเตอร์)” จำนวน 2 อัตรา ปฏิบัติงานในกลุ่มงานบัญชีและการเงิน ตั้งแต่บัดนี้ – 26 ก.ค. 66

“ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 43” เชิญชวนครู-อาจารย์ทั่วประเทศ และผู้ที่สนใจ ร่วมเดินทางศึกษา เรียนรู้ฟาร์มของแม่ สดุดี…วีรชนค่ายบางระจัน ที่จ.สิงห์บุรี 17-18 สิงหาคม นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!