นักวิทย์ซินโครตรอน ปลูกฟ้าทะลายโจรด้วย LED ตั้งเป้าเพิ่มสารออกฤทธิ์ทางยา

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง ของ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศึกษาการปลูกฟ้าทะลายโจรด้วยแสง LED ตั้งเป้าช่วยเกษตรกรปรับปรุงการปลูก เพื่อเพิ่มสารออกฤทธิ์ทางยา พร้อมใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์ ผลการปลูกด้วยแสงสีแดงให้สารสำคัญมากกว่าการปลูกด้วยแสงแดดประมาณ 2 เท่า

ดร.นิชาดา เจียรนัยกูร นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ร่วมกับคณะกรรมาธิการกระทรวง อว. ไปยัง อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เมื่อเดือนกันยายน ปี 2564 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว มีการส่งเสริมการปลูกฟ้าทะลายโจรอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีการระบาดของโรคโควิด-19 จึงมีความพยายามปรับปรุงการปลูกให้ฟ้าทะลายโจรผลิตสารสำคัญได้เพิ่มขึ้น เพื่อนำไปผลิตเป็นยา โดยฟ้าทะลายโจรมีสารแอนโดรกราโฟไลด์ ที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ลดไข้ ลดอาการหวัด ไอ และ เจ็บคอ

“เกษตรกรในพื้นที่พยายามปรับปรุงการปลูกฟ้าทะลายโจร ทั้งเรื่องดินและน้ำ แต่ยังไม่มีใครทำเรื่องแสง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการเจริญเติบโตของพืช ตนจึงได้นำเสนอแก่คณะกรรมาธิการกระทรวง อว. เรื่องการทดลองใช้แสง LED ปลูกฟ้าทะลายโจร เนื่องจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเคยมีงานวิจัยที่ทำการทดลองปลูกผักสลัดและพืชสมุนไพร ด้วยหลอด LED และได้ผลดีมาก โดยสามารถเพิ่มน้ำหนักของผักสลัดและได้สมุนไพรที่มีกลิ่นหอมมากกว่าการปลูกด้วยแสงธรรมดา เราจึงได้ทำการวิจัยว่าจะสามารถเพิ่มสารสำคัญให้ฟ้าทะลายโจรจากการปลูก ด้วยหลอด LED หรือไม่” ดร.นิชาดา กล่าว

จากการวิจัย พบว่า คลอโรฟิลด์ที่พืชใช้สังเคราะห์แสงจะดูดกลืนแสงสีแดงและสีน้ำเงินมากที่สุด นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนจึงนำมาเป็นหลักในการปรับการให้แสงแก่ฟ้าทะลายโจรที่แตกต่างกัน ใน 3 สภาวะ คือ ให้แสงสีน้ำเงินมากกว่าแสงสีแดง 2 เท่า ให้แสงสีน้ำเงินและแสงสีแดงเท่ากัน และให้แสงสีแดงมากกว่าแสงสีน้ำเงิน 2 เท่า เพื่อดูว่าอัตราส่วนไหนที่จะสามารถสร้างเสริมการออกฤทธิ์สารสำคัญได้ ผลการทดลองปลูกเป็นระยะเวลา 2-3 เดือน พบว่า หากให้แสงสีแดงเท่ากับแสงสีน้ำเงิน หรือ แสงสีแดงมากกว่าแสงสีน้ำเงิน ฟ้าทะลายโจรจะผลิตสารออกฤทธิ์สำคัญได้มากกว่าสภาวะการปลูกโดยใช้แสงธรรมชาติ โดยส่วนที่ให้สารสำคัญมากที่สุด คือ ส่วนใบ

ทั้งนี้ นักวิจัยได้ใช้แสงซินโครตรอนย่านอินฟราเรดวิเคราะห์สารออกฤทธิ์ในฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีข้อดีตรงที่สามารถนำฟ้าทะลายโจรที่อบแห้งและบดเป็นผงแล้ว มาวิเคราะห์หาสารสำคัญได้เลย โดยไม่ต้องใช้สารเคมีในการสกัดเอาสารสำคัญออกมา เหมือนวิเคราะห์ด้วยห้องปฏิบัติการทั่วไป ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการวิเคราะห์หาสารสำคัญ และลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก หลังจากนี้ ดร.นิชาดา จะศึกษาการให้แสง LED เสริมแก่ฟ้าทะลายโจรในช่วงไม่มีแสงแดด เพื่อหาระยะเวลาการให้แสงเสริมที่เหมาะสม เพื่อให้พืชสร้างสารสำคัญได้ และจะทดลองปรับวิธีการปลูกและการให้แสง ที่สามารถลดต้นทุนได้ แต่ให้สารสำคัญเพิ่มขึ้น เพื่อถ่ายทอดแก่เกษตรกรต่อไป

RANDOM

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!