ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรให้มีความทันสมัย และตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน
รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน มทร.ธัญบุรี ได้มีการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มีการนำหุ่นยนต์เข้ามาเป็นสื่อการเรียนการสอนเพิ่มขึ้น เพื่อให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะ เรียนรู้การใช้เทคโนโลยี และเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะออกสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหุ่นยนต์ที่นำมาใช้ประกอบด้วย 1. ROBOT FOR ARC WELDING เป็นการนำหุ่นยนต์ไปใช้ในงานเชื่อมจุด 2. AGV (Automated Guided Vehicle) Robot หรือ รถลำเลียงสินค้าอัตโนมัติ สำหรับการขนย้ายสินค้าภายในคลังสินค้าได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และปลอดภัย 3. DOBOT MAGICIAN เป็นแขนหุ่นยนต์ หรือ Robotic Arms ที่ถูกออกแบบมาสำหรับผู้ที่สนใจ และอยากเรียนรู้การควบคุมแขนหุ่นยนต์ 4. METAL LATHE เป็นเครื่องกลึงความเร็วรอบสูง 5. MACHINING CENTER หรือ เครื่องกัด ที่มีอุปกรณ์เปลี่ยน Tools แบบอัตโนมัติ สามารถใช้งานได้ครบเครื่องมากกว่าด้วยการสั่งการเพียงครั้งเดียว ลดการทำงานซ้ำซ้อนและแรงงานคน ซึ่ง มทร.ธัญบุรี ใช้งบประมาณสำหรับเครื่อง ROBOT FOR ARC WELDING และ AGV Robot 9 ล้านบาท
ด้าน ผศ.ประจักษ์ อ่างบุญตา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า การนำ WELDING ROBOT มาสอนนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้การควบคุมหุ่นยนต์ การเขียนโปรแกรมการเคลื่อนที่ การเขียนโปรแกรมการเชื่อม รวมถึงการป้อนค่าพารามิเตอร์การเชื่อม การทดสอบความถูกต้องของโปรแกรมที่เขียน และเชื่อมชิ้นงานจริงได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพราะภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบันมีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งนักศึกษาที่จบจาก มทร.ธัญบุรี จะต้องเข้าใจการทำงานในเชิงลึกของการเชื่อมด้วยหุ่นยนต์ และการตรวจสอบแบบไม่ทำลาย นอกจากนี้ นักศึกษายังสามารถนำไปต่อยอดในการเข้ารับการอบรมและทดสอบ เพื่อขอใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ด้านการเชื่อมด้วยหุ่นยนต์ และการตรวจสอบแบบไม่ทำลาย จากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส หรือ หน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เมื่อได้ใบรับรองสามารถนำไปใช้ในการสมัครงาน การขึ้นขั้นเงินเดือนได้ในอนาคต
ขณะที่ อาจารย์เฉลิมศักดิ์ ถาวรวัตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ภาควิชาฯ ยังมีการนำหุ่นยนต์ลำเลียงสินค้าอัตโนมัติ AGV Robot ระบบ LiDAR Sensor มาใช้ โดยการยิงคลื่นแสงเลเซอร์ส่งไปกระทบกับวัตถุ เมื่อแสงกระทบวัตถุและสะท้อนกลับมายังเซนเซอร์ ระบบจะสามารถคำนวณระยะห่างของวัตถุจากตัวเซนเซอร์ได้ ทำให้สามารถลำเลียงสินค้า อุปกรณ์ภายในคลังสินค้าได้อย่างแม่นยำ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการคลังสินค้า รวมถึงลดอุบัติเหตุและความผิดพลาดในการทำงาน การนำ AGV Robot เข้ามาใช้ประกอบการเรียนการสอนนั้น เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากของจริง เพราะปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 ระบบอัตโนมัติเข้ามามีบทบาทและถูกนำมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อใช้แทนกำลังคน ลดขั้นตอน ลดการสูญเปล่า และตอบสนองในยุค Intelligence of Things ที่ทุกอย่างเชื่อมต่อด้วยอินเตอร์เน็ต ทำให้ มทร.ธัญบุรี ต้องเร่งเพิ่มศักยภาพของนักศึกษาให้รอบด้าน ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนการเขียนโปรแกรม ควบคุม ดูแลรักษาเครื่องมือ รวมถึงจะต้องเรียนรู้ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าไว้ว่า นักศึกษาจะต้องเข้าใจระบบกลไกของเครื่อง หลักการทำงาน และนักศึกษาควรผลิดหุ่นยนต์ได้เอง และเมื่อจบการศึกษาก็พร้อมที่จะเริ่มงานได้เลย หรือ ช่วยลดระยะเวลาในการฝึกอบรมได้อีกทางหนึ่ง