DPU ระดมผู้เชี่ยวชาญธุรกิจ จัดงาน Hackathon ติวเข้ม นศ. เฟ้นหาไอเดียสุดเจ๋ง ปั้นผู้ประกอบการหน้าใหม่

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มุ่งสู่การเป็น “Smart Campus” เดินหน้าจัดโครงการ DPU Hackathon เฟ้นหาสุดยอดทีมนักศึกษาที่มีไอเดียธุรกิจสุดเจ๋ง สร้างสรรค์สินค้า-บริการที่ใช่ ตอบโจทย์ความท้าทายของโลกยุคใหม่ ชูแนวคิด “Smart Idea with SDGs” ระดมผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาติวเข้มนักศึกษา เติมเต็มองค์ความรู้ เพิ่มประสบการณ์และทักษะจำเป็น พร้อมสานต่อไอเดียธุรกิจให้เกิดขึ้นจริง และก้าวสู่การเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

ผศ.ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หรือ DPU กล่าวถึงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยฯ เพื่อมุ่งสู่การเป็น “Smart Campus” ว่า DPU มีความมุ่งมั่นในการจัดการเรียนการสอนให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง เพื่อเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์และพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ ทักษะการแก้ปัญหา การคิดเชิงวิเคราะห์ การทำงานเป็นทีม การนำเสนอ การคิดเชิงสร้างสรรค์ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อให้นักศึกษาทุกคนมีศักยภาพพร้อมที่จะก้าวไปกับโลกยุคใหม่

ดังนั้น โครงการ DPU Hackathon โดย ฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน จึงได้เกิดขึ้นมา เพื่อเป็นหนึ่งในแนวทางส่งเสริมให้นักศึกษามีเวทีฝึกฝนและพัฒนาทักษะ พร้อมทั้งได้เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์จริง ซึ่งโครงการฯ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Smart Idea for SDGs” เพราะต้องการสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนานวัตกรรมของนักศึกษาไปในทิศทางเดียวกับการขับเคลื่อนประเทศไทย ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของโลก

ด้าน ผศ.ไพรินทร์ ชลไพศาล ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน ในฐานะหัวหน้าโครงการ DPU Hackathon กล่าวถึง โครงการฯ ในปีนี้ว่า มีนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมประชันไอเดีย จำนวน 18 ทีม แต่ละทีมมีการรวมกลุ่มจากหลายวิทยาลัย/คณะ และชั้นปี เช่น วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ (CIM) และ คณะนิเทศศาสตร์ เป็นต้น โดยมีโครงงานที่หลากหลาย ทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรม และสินค้า ซึ่งกิจกรรมในโครงการฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 15 มีนาคม 2566 ตลอด 2 วันเต็ม เป็นการระดมสมองและเติมเต็มองค์ความรู้ พร้อมให้คำปรึกษากับนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ

ภายในงานยังได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจมาให้ความรู้ในหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงงานของนักศึกษา รวมทั้งบอกเล่าประสบการณ์และให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เริ่มจาก คุณวิภาวี กิตติเธียร CEO Satarana เครือข่ายของธุรกิจเพื่อสังคม คุณเด่นพิพัฒน์ ใจตรง Founder Airportels บริการรับฝาก-ส่งกระเป๋าสัมภาระไปยังจุดหมายปลายทาง และ คุณศุภิสรา ธีระชีพ Founder Pure Scoop Ice-cream ไอศครีมโฮมเมดที่ลูกค้าออกแบบแพ็กเกจจิ้งได้ด้วยตัวเอง ที่มาร่วมบรรยายในหัวข้อ “Smart Business Idea” อาจารย์นิติ มุขยวงศา ผู้ช่วยรองอธิการบดี สายงานวิชาการ DPU และ อาจารย์จักรเพชร์ เจริญวิไลสุข กูรู Startup มาบรรยายในหัวข้อ “Design Thinking, Lean Canvas and Strategies to BNC” และปิดท้ายที่ คุณธีรุตม์ วรรณฤมล จาก La moon – Cold Brew Coffee และ คุณฐาปกรณ์ จำปาได ที่มาให้ความรู้ในหัวข้อ “Financial and Pitching Like Pro”

เมื่อแต่ละทีมได้ฟังบรรยายและคำแนะนำต่าง ๆ พร้อมนำไปปรับปรุงโครงงานแล้ว จะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งมีเกณฑ์ในภาพรวม ได้แก่ 1. ไอเดีย “Wow” หรือไม่ 2. กลุ่มลูกค้าเป้าหมายต้องชัดเจน 3. ช่องว่างและมูลค่าทางการตลาดที่จะเกิดขึ้นจากโครงงาน 4. การทำงานเป็นทีม และ 5. ความน่าสนใจของวิธีการนำเสนอ รวมถึงรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติมที่ต้องพิจารณา เพื่อค้นหาทีมที่มีความสามารถในการพัฒนาต่อยอด และพร้อมสำหรับการแข่งขันภายนอกมหาวิทยาลัย

สำหรับรางวัลจากโครงการ DPU Hackathon ครั้งนี้มีทั้งหมด 7 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Noppathon โครงงาน “Woranong Plus” ผลิตภัณฑ์เทียนหอมเพื่อสุขภาพที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของจังหวัดระนอง รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม Eva- Go โครงงาน “Eva- Go” แบตเตอรี่โซเดียมไอออน นวัตกรรมด้านพลังงาน รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีมกลุ่มก้อน โครงงาน “Trawell Tour” บริการจัดแพ็กเกจทัวร์ท่องเที่ยวที่มอบประสบการณ์ Adventure ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ภายใต้สโลแกน “เที่ยวประสบการณ์ใหม่ ผจญภัยแอดเวนเจอร์” นอกจากนี้ ยังมีรางวัลขวัญใจเมนเทอร์ 4 รางวัล ที่คัดเลือกจากความโดดเด่นในศักยภาพด้านต่าง ๆ เช่น ด้านเทคโนโลยี และด้านการตลาด

นายจักรเพชร์ เจริญวิไลสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัล เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญที่ทุกทีมจะต้องระลึกเสมอ คือ การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะได้รางวัลหรือไม่ ทุกทีมจะต้องพร้อมปรับเปลี่ยนและไม่หยุดอยู่กับไอเดียตั้งต้น ส่วนทักษะต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้และพัฒนาไม่ได้ใช้กับการเป็นผู้ประกอบการเท่านั้น แต่สามารถนำไปใช้กับอาชีพต่าง ๆ ได้มากมาย ทั้งนี้ ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ มีจุดเด่นอยู่ที่สินค้ามีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายชัดเจน และมีแนวทางต่อยอดด้วยการขึ้นทะเบียน GI เครื่องหมายสินค้าที่เป็นตัวแทนของจังหวัด นอกจากนี้ ยังมีการทำสินค้าจริง ๆ ออกมาให้ได้ลอง แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องทบทวน ปรับปรุง พัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพื่อผลักดันสินค้าต่อไป

ขณะที่ นายวรกร คงตุก นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ ตัวแทนทีม Noppathon ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการนี้ได้รับประโยชน์มากมาย เป็นประสบการณ์ที่ดีและมีคุณค่ามาก ทั้งจากการฟังผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ และทีมอื่น ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้ได้รู้วิธีแก้ปัญหา รวมทั้งเห็นมุมมองและทิศทางใหม่ ๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้พัฒนาและเพิ่มแนวทางในการต่อยอดโครงงาน เช่น การพัฒนาสินค้าให้สอดรับกับการพัฒนาประเทศ โดยการสร้าง Smart Product ที่จะตอบโจทย์ Smart City ซึ่งมีหลายมิติ ทั้งเรื่องสุขภาพ เรื่องเทคโนโลยี ฯลฯ และการวางแผนการตลาดให้รอบคอบยิ่งขึ้น แม้ว่าจะได้รางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ แต่ยังมีจุดที่ต้องคิดและทำให้ดีกว่าเดิมขึ้นไปอีก เพื่อให้ไอเดียที่มีเกิดเป็นจริง และมีโอกาสสำเร็จมากที่สุด

RANDOM

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!