มจธ. เปิดหลักสูตรปรับปรุงใหม่ ป.เอก ด้านพลังงาน ปั้นบุคลากรรองรับการเปลี่ยนผ่านระบบพลังงานของโลก

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

รศ.ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร ที่ปรึกษาอธิการบดีด้านวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยในฐานะประธานกรรมการปรับปรุงหลักสูตรปริญญาเอกสายพลังงาน ของ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลก จึงต้องมีมาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหา สิ่งสำคัญ คือ การเปลี่ยนผ่านพลังงาน (energy transition) จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล มาใช้พลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ เช่น พลังงานหมุนเวียน และเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ องค์กรสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายในปี ค.ศ. 2030 รวมถึงเป้าหมายของประเทศไทยในการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ภายในปี ค.ศ. 2065 ทำให้การสร้างบุคลากรในด้านนี้จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในยุคปัจจุบัน

“การเปลี่ยนผ่านระบบพลังงานของโลก ด้วยการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะ SDG7 ที่ว่าด้วยการสร้างหลักประกันให้ทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ SDGs เป็นกรอบให้ทุกประเทศทำการเปลี่ยนผ่านทั้งด้านพลังงาน เศรษฐกิจ และสังคม อย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นที่มาของความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ทั้งด้านเทคนิค การบริหารจัดการ และการวางแผน”

ด้วยเหตุนี้ JGSEE มจธ. จึงได้ปรับปรุงหลักสูตรระดับปริญญาเอกอย่างมีนัยสำคัญ ให้พร้อมรับการทำงานในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตมากยิ่งขึ้น จากหลักสูตร Ph.D. in Energy Technology เดิม ที่เน้นเทคโนโลยีพลังงาน มาเป็น “หลักสูตร Ph.D in Sustainable Energy Systems (SES) หรือ ระบบพลังงานที่ยั่งยืน” เน้นการมองปัญหาเชิงระบบ โดยการบูรณาการเทคโนโลยีหลาย ๆ ด้าน เป็น ‘สหวิทยาการ’ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรรองรับการเปลี่ยนผ่านระบบพลังงานของโลก ทั้งด้านเทคนิค การบริหารจัดการ และการวางนโยบายและแผน ซึ่งในหลักสูตรที่ปรับปรุงใหม่นี้ดำเนินการสอน โดยคณาจารย์ประจำ JGSEE และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากภายในและภายนอก มจธ. ร่วมทั้งความร่วมมือกับ องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID)

รศ.ดร.บัณฑิต กล่าวต่อว่า เหตุผลอีกประการหนึ่งของการปรับปรุงหลักสูตรครั้งนี้ เพราะต้องการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจด้านระบบพลังงาน และเศรษฐศาสตร์พลังงาน เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมากขึ้นในช่วงที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงระบบพลังงาน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการทำงานในด้านการวางแผนและออกแบบระบบ ทั้งในหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลด้านพลังงาน อาทิ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น กฟผ. กฟน. กฟภ. และบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านพลังงาน เช่น ปตท. และ บริษัทธุรกิจพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นต้น โดยการเรียนการสอนในหลักสูตรปรับปรุงใหม่นี้ จะเน้นการพัฒนาทักษะด้านการประกอบวิชาชีพมากขึ้น อาทิ ทักษะด้านการสื่อสาร ด้านดิจิทัล การบริหารโครงการ และทักษะการเป็นผู้ประกอบการ หรือ Entrepreneurship

สำหรับหลักสูตร Ph.D. in SES เป็นหลักสูตรนานาชาติ แบ่งเป็น 2 แผน ได้แก่ Plan A สำหรับผู้เรียนจบปริญญาโท ระยะเวลาเรียน 3 ปี จำนวน 55 หน่วยกิต (วิชาบังคับ 11 หน่วยกิต วิชาเลือก 6 หน่วยกิต วิทยานิพนธ์ 38 หน่วยกิต) และ Plan B สำหรับผู้จบปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 ระยะเวลาเรียน 4 ปีครึ่ง จำนวน 75 หน่วยกิต (วิชาบังคับ 11 หน่วยกิต วิชาเลือก 15 หน่วยกิต วิทยานิพนธ์ 49 หน่วยกิต)

ในส่วนของวิชาบังคับ (หรือวิชาแกน) 4 วิชา ได้แก่ 1. Research Methodology 2. Research Communication 3. Energy, Environment and Sustainability และ 4. Entrepreneurship for Energy and Environment ส่วนวิชาเลือก แบ่งเป็น 4 สาขาย่อย ตามสาขาวิทยานิพนธ์ที่จะเลือกทำ ได้แก่ สาขาย่อยที่ 1 Energy Policy and Planning เน้นการวางฉากทัศน์ในอนาคต การวางนโยบายและแผน เศรษฐศาสตร์ การตลาด และการบริหารโครงการ สาขาย่อยที่ 2 เทคโนโลยีพลังงาน และเทคโนโลยีโรงไฟฟ้า เช่น โซล่าเซลล์ ชีวมวล เป็นต้น สาขาย่อยที่ 3 Energy Systems Integration เน้นการบูรณาการรูปแบบพลังงานใหม่ ๆ เข้ามาในระบบไฟฟ้าสมัยใหม่ (smart grid) เช่น ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนที่แปรผันและกระจาย และรูปแบบการใช้ไฟฟ้าใหม่ ๆ เช่น การจัดการด้านโหลด (demand response) ทั้งระดับโรงงาน อาคาร และระดับครัวเรือน รวมทั้งทักษะการใช้ big data กับการจัดการพลังงาน และ สาขาย่อยที่ 4 ประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน เน้นการจัดการพลังงานในอาคาร ในอุตสาหกรรม และในภาคขนส่ง และยังมีวิชาเลือกในหลักสูตรด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และความยั่งยืน ที่จะทำให้ผู้เรียนมีมุมมองทั้งด้านสิ่งแวดล้อมกับพลังงานที่รอบด้านมากยิ่งขึ้น

ด้าน ศ.ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ ผู้อำนวยการ JGSEE ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรนี้เปิดกว้างสำหรับผู้จบสายวิทยาศาสตร์ สายวิศวกรรมศาสตร์ และสายเศรษฐศาสตร์ หรือที่เกี่ยวข้อง โดยผู้เรียนส่วนใหญ่จะได้รับทุนการศึกษาตลอดหลักสูตร ซึ่งปัจจุบันเปิดรับสมัครไปแล้ว 2 รุ่น โดยเปิดรับสมัครทุกภาคการศึกษา ภาคการศึกษาที่ 1 เปิดรับสมัครช่วง ม.ค. – มิ.ย. (เปิดภาคการศึกษา ส.ค.) ภาคการศึกษาที่ 2 เปิดรับสมัครช่วง ส.ค. – พ.ย. (เปิดภาคการศึกษา ม.ค.) ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายบริการการศึกษา บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม โทร. 02-470-8338 อีเมล adisorn.jeu@kmutt.ac.th

RANDOM

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!