คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้พัฒนา “เตียงพลิกตะแคงตัวผู้ป่วย ลดแผลกดทับ” เวอร์ชัน 3 สำหรับผู้สูงอายุติดเตียงโดยเฉพาะ พร้อมลงพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ชุมชนผลิตใช้งานเอง ต่อยอดสร้างรายได้ให้ชุมชน
ศ.ดร.วิชัย อึงพินิจพงศ์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบแล้ว โดยมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด เฉพาะใน จ.ขอนแก่น มีผู้สูงอายุถึง 260,000 คน และมีผู้สูงอายุที่ติดเตียงถึง 20,000 คน คิดเป็น 5% ของประชากรในจังหวัด
ลักษณะพิเศษของ “เตียงพลิกตะแคงตัวผู้ป่วย ลดแผลกดทับ เวอร์ชัน 3” นี้ คือ มีความสูง 60-70 เซนติเมตร มีผิวเบาะนุ่มและแน่น กระจายแรงกดได้ดี ลดอาการแผลกดทับที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อ หรือ เสียชีวิตได้ โดยใช้วัสดุทำจากไม้ และโลหะบางส่วน ซึ่งทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า จะช่วยพลิกตัวให้ผู้ป่วยผ่านสวิตช์ควบคุมที่ผู้สูงอายุสามารถกดใช้งานเองได้ หรือ มีผู้ดูแลเพียงคนเดียวก็สามารถดูแลผู้สูงอายุติดเตียงได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้งบประมาณเพียง 10,000 บาทเท่านั้น ทำให้ผู้สูงอายุในชุมชนสามารถเข้าถึงได้
“เรารู้ว่าที่ผ่านมาชุมชนเข้าไม่ถึงเตียงที่มีคุณภาพ อย่างชุมชนบ้านโต้น อ.พระยืน จ.ขอนแก่น มีผู้สูงอายุติดเตียงอยู่ถึง 12 คน แต่มีเตียงไม่เพียงพอ เมื่อมีผู้เสียชีวิตก็จะนำเตียงนั้นไปเวียนกันใช้ หากมีเตียงที่ชุมชนเข้าถึงได้ ปัญหานี้ก็จะหมดไป”
ด้าน ดร.วรวุฒิ ชมภูพาน อาจารย์วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.ขอนแก่น คณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุบางส่วนเป็นผู้ป่วยติดเตียง และต้องการได้รับการดูแล วิทยาลัยสาธารณสุขสิริธร จึงได้ร่วมกับ คณะเทคนิคการแพทย์ คัดเลือกและส่งเตียงสำหรับผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งมีคนไข้ได้รับเตียงไปใช้แล้ว 3-4 คน ผลตอบรับดีมาก พบว่า คนไข้ไม่มีปัญหาเรื่องแผลกดทับ
สอดคล้องกับ น.ส.หอมไกล ไชยพิมูล อายุ 57 ปี ชาวบ้าน อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น เล่าว่า ที่ผ่านมา คุณแม่วัย 96 ปี ซึ่งป่วยติดเตียงหลังหกล้มสะโพกหัก นอนอยู่บนพื้น ทุกครั้งจะตะแคงก็ปวดสะโพก จะลุกขึ้นนั่งก็ลำบาก เมื่อมีเตียงช่วยพลิกตะแคงมา ทำให้การดูแลทำได้ง่ายขึ้น และช่วยไม่ให้เป็นแผลกดทับ
“คนดูแลก็อายุมากแล้ว ก้มก็ปวด คุกเข่าไปช่วยตะแคงก็เจ็บ มีเตียงมาช่วยได้เยอะมาก ช่วงที่มีธุระด่วนต้องออกไปข้างนอก คุณแม่ก็กดสวิตช์พลิกตัวเองได้ บ้านอื่นที่ไม่มีเตียง เห็นเขาเป็นแผลกดทับกันหลายคน ก็อยากให้เขาได้ใช้ด้วย”
อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.วิชัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้บูรณาการองค์ความรู้ต่าง ๆ จากหลากหลายคณะ ลงพื้นที่ชุมชนผ่านโครงการ U2T มหาวิทยาลัยสู่ตำบล มาโดยตลอด เพื่อพัฒนาทักษะให้คนในชุมชนทุก ๆ ด้าน รวมถึงด้านผู้สูงอายุด้วย ด้วยการเปิดอบรม อสม. และ Caregiver หรือ อาสาสมัครท้องถิ่น รวมถึงการเปิดคลินิกกายภาพบำบัด คลินิกห้องปฏิบัติการ และคลินิกแพทย์แผนจีน ที่กำลังจะเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้ด้วย