แพทย์ มข. ชี้ โควิด-19 สายพันธุ์ XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน เบื้องต้นพบว่า ติดเชื้อง่ายขึ้น แต่ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดิม แนะเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มเสี่ยงขอให้ประเมินตนเองแล้วฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น Bivalent โดยเร็ว หรือ Walk in มารับวัคซีนได้ที่ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ 19 – 30 เม.ย. นี้
หลังจากความสนุกสนานในเทศกาลสงกรานต์ผ่านพ้นไป ข่าวการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้กลับมาอีกครั้ง หนึ่งในผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ จาก จ.ขอนแก่น เล่าว่า หลังเทศกาลสงกรานต์คนสนิทติดเชื้อโควิด-19 จึงได้เฝ้าระวังและตรวจหาเชื้อวันแรกยังไม่พบเชื้อ พอในวันที่ 2 เริ่มมีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อย และวันที่ 3 อาการเริ่มชัดเจน อ่อนเพลียมากขึ้น มีไข้สูง 38.5 องศาเซลเซียส จึงตรวจ ATK อีกครั้ง พบว่า ติดเชื้อโควิด-19
“หลังจากตรวจพบก็มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย และไข้สูงต่อเนื่อง จึงกินยาลดไข้ตามอาการ โดยซื้อยามาทานเอง และโทรศัพท์ปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาล”
ผู้ป่วยคนดังกล่าว เล่าต่อว่า แม้จะฉีดวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม แอสตร้าเซนเนก้าอีก 1 เข็ม ก็ยังติดเชื้อได้ เป็นการติดครั้งแรก ซึ่งส่วนตัวกังวลกับสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะเมื่อคนใกล้ชิดติด แล้วตัวเองติดด้วย ขณะเดียวกัน ยังมีรายงานข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อีก คาดว่า หลังเทศกาลสงกรานต์เชื้ออาจจะแพร่กระจาย จนทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ ผศ.นพ.วันทิน ศรีเบญจลักษณ์ อายุรแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โควิด-19 ที่มีกระแสข่าวว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่นั้น จริง ๆ ยังเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน โดยสายพันธุ์ที่ถูกพูดถึงมาก คือ สายพันธุ์ XBB.1.16 เป็นการกลายพันธุ์เล็ก ๆ น้อย ๆ บริเวณตำแหน่งที่เรียกว่า โปรตีนหนาม ซึ่งอาจทำให้เชื้อมีคุณสมบัติแพร่กระจายได้เร็วขึ้น แต่เบื้องต้นยังไม่มีข้อมูลว่าก่อให้เกิดโรครุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น
อย่างไรก็ตาม หลังเทศกาลสงกรานต์ มีรายงานว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นถึง 158 เท่า ในประเทศไทย ต้องย้ำว่า ก่อนสงกรานต์เป็นช่วงที่โรคเงียบสงบ ดังนั้น 158 เท่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ยังเป็นจำนวนหลักร้อยคน
“ข้อมูลเบื้องต้น พบว่า โควิดสายพันธุ์ใหม่ติดเชื้อง่ายขึ้น แต่ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดิม ถามว่าต้องกังวลไหม อาจตอบว่า ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ไปก่อน”
ผศ.นพ.วันทิน กล่าวต่อว่า อาการของโควิด-19 นั้น อาจจะแยกความแตกต่างกับอาการไข้หวัดใหญ่ได้ยาก เนื่องจากมีอาการใกล้เคียงกัน คือ มีทั้งไข้ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว แต่ล่าสุดสำหรับสายพันธุ์ XBB.1.16 มีรายงานว่า ผู้ติดเชื้อมีอาการตาแดงด้วย แต่อาการนี้อาจไม่เกิดขึ้นกับทุกคน ซึ่งการตรวจหาเชื้อด้วย ATK ยังสามารถยืนยันการติดเชื้อได้ ไม่ว่าจะสายพันธุ์ใด
สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ภายใน 3 เดือน หรือ ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันจนทำให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงมากแล้ว มีโอกาสน้อยที่จะติดเชื้อใหม่ แม้ว่าเชื้อจะกลายพันธุ์แต่การหลบภูมิคุ้มกันยังไม่โดดเด่น แต่หากติดเชื้อและฉีดวัคซีนนานแล้ว ก็มีโอกาสติดเชื้อซ้ำ หรือ ติดเชื้อใหม่ได้
การป้องกันการติดเชื้อกลายพันธุ์อาจต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นชนิดใหม่ คือ วัคซีน Bivalent ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดผสมกันระหว่างสายพันธุ์อู่ฮั่น และ โอมิครอน มีผลข้างเคียงไม่แตกต่างจากวัคซีนชนิดเดิม สามารถช่วยลดการติดเชื้อรุนแรงได้
ผศ.นพ.วันทิน กล่าวย้ำว่า หากใครยังมีภูมิคุ้มกันดี ก็ให้พิจารณาแล้วแต่บุคคล แต่กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หรือ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงบุคลากรการแพทย์ด่านหน้าที่ต้องดูแลผู้ป่วย และ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือ ผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน จำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงของตัวเอง แล้วฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ หากมีแนวโน้มการระบาดระลอกใหม่ ประชาชนต้องปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงที่ชุมชน หรือ แออัด ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น ๆ
อย่างไรก็ตาม หากประชาชนพิจารณาแล้วว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง สามารถเดินทางมาฉีดวัคซีนชนิดใหม่ Bivalent ของไฟเซอร์ ได้ที่งานเวชกรรมสังคม ชั้น 2 อาคารเรียนรวม โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โดยไม่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า ตั้งแต่วันที่ 19 – 30 เมษายน 2566 ช่วงบ่ายของทุกวัน ยกเว้น วันหยุดราชการ