ปัจจุบันปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตคนไทยเพิ่มสูงขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาในทุกมิติ รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ล่าสุด ทีมนักวิจัยและนักประดิษฐ์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ร่วมกันพัฒนา “ต้นแบบหอฟอกอากาศ” สำหรับชุมชนด้วยเทคนิคพลาสมา และดำเนินการติดตั้งในพื้นที่ กฟผ. ก่อนที่จะมีการขยายผลการติดตั้งไปในพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ
สำหรับต้นแบบหอฟอกอากาศดังกล่าว มีคุณสมบัติที่ช่วยบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศ ดังนี้
– มีประสิทธิภาพมากกว่า 80% ในการดักจับอนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5
– ฟอกอากาศบริสุทธิ์ได้ในอัตราสูงสุด 30,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง
– ครอบคลุมพื้นที่ในรัศมี 250 เมตร
– สามารถนำไปติดตั้งใช้งานในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 หรือ มลพิษทางอากาศ
ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว เป็นการใช้เทคนิค “การกำเนิดพลาสมา” ที่ใช้ไฟฟ้าแรงสูง เพื่อสร้างความเครียดสนามไฟฟ้า ทำให้อากาศแตกตัวเป็นประจุไฟฟ้า (Pre-charge) จากนั้นจึงปล่อยประจุไฟฟ้าไปเกาะอนุภาคฝุ่น PM 2.5 เมื่ออนุภาคฝุ่นที่มีประจุเคลื่อนตัวผ่านห้องดักจับอนุภาค ก็จะถูกกักเก็บไว้
ในอนาคตองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยชิ้นนี้ สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้บริการตรวจวัดประสิทธิภาพการกรองฝุ่นละอองของเครื่องป้องกันและอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น หน้ากากอนามัย และ เครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน ได้อีกด้วย
อ้างอิงจาก https://bit.ly/40zWQ8r