ปัญหาความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโรงเรียนและสถานศึกษา ยังคงเป็นปัญหาที่มีความสำคัญในสังคมไทย ซึ่งส่งผลกระทบทางด้านร่างกายและจิตใจของนักเรียนผู้ตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงและการถูกกลั่นแกล้งข่มเหงรังแก ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนลดลง
จากงานสัมมนา Teacher Conference ในหัวข้อ “Stop Violence in Schools” เยาวชนไทยห่างไกลความรุนแรง ครั้งที่ 1 ซึ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถาบันสอนภาษาอังกฤษ โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการศึกษา ของ ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้น ภายใต้โครงการ International Friends for Peace 2023 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ณ Social Innovation Hub อาคารวิษฐ์ ประจวบเหมาะ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันแก้ไขและยุติปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนและสถานศึกษา
ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดีด้านการพัฒนานิสิต จุฬาฯ ประธานเปิดงาน เปิดเผยว่า Teacher Conference ในครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารสถานศึกษา คณาจารย์ และผู้ที่รับผิดชอบงานด้านวิจัย และกิจการนิสิต ได้มีส่วนร่วมในงานครั้งนี้ และยังเป็นการเพิ่มองค์ความรู้และทักษะในการร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนและสังคมไทย ซึ่งสอดคล้องกับคำขวัญของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มุ่งสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม หรือ Innovations for Society
“การจัดงานในครั้งนี้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 3 เรื่องของจุฬาฯ คือ Future Leaders การสร้างผู้นำในอนาคต โดยส่งเสริมความเป็นผู้นำให้แก่นิสิตและเยาวชน มีคุณธรรม และความคิดสร้างสรรค์ Impactful Research การสร้างผลงานวิจัยที่มีผลกระทบต่อสังคม และ เรื่อง Sustainability หรือ การสร้างความยั่งยืนแก่สังคมไทย” ผศ.ดร.ชัยพร กล่าว
ด้าน รศ.ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง ภาควิชาสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการวิจัย “สังคมไทยไร้ความรุนแรง” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวในหัวข้อ “แผนงานวิจัยท้าทายไทย : สังคมไทยไร้ความรุนแรง” โดยได้รับโจทย์ในการวิจัยหาแนวทางแก้ปัญหาความรุนแรงของสังคมไทย ศึกษาหาสาเหตุ ผลกระทบของความรุนแรง รวมถึงแนวทางต้นแบบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง
ความรุนแรงในสังคมไทยในสถานการณ์โลก แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ความรุนแรงต่อตนเอง ความรุนแรงระหว่างบุคคล และความรุนแรงระหว่างกลุ่ม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะนำไปสู่การวิจัยเพื่อหาแนวทางต้นแบบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย และเครื่องมือที่ใช้ในการป้องกันและลดความรุนแรงในสังคม
รศ.ดร.สุมนทิพย์ เน้นย้ำในเรื่องของการร่วมมือกันระหว่างองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม รวมถึงภาคประชาสังคม สื่อมวลชน ภาคเอกชน และสถาบันครอบครัว ซึ่งมีความสำคัญในลำดับต้น ๆ และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงได้
“จากการศึกษาวิจัยในปีที่ 2 ได้ต่อยอดแผน Road Map สังคมไทยไร้ความรุนแรง ออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ นโยบาย (Policy) ป้องกัน (Prevention) คุ้มครอง (Protection) ดำเนินคดี (Prosecution) และ ความเป็นหุ้นส่วน (Partnership) โดยแผนงานดังกล่าวได้มีการวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งมอบองค์ความรู้ให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปต่อยอดในการดูแลและป้องกันการเกิดความรุนแรงอย่างเป็นรูปธรรม” รศ.ดร.สุมนทิพย์ กล่าวในที่สุด
งาน Teacher Conference จะมีการจัดสัมมนาขึ้นอีก 2 ครั้ง คือ ในวันที่ 25 พฤษภาคม ในเรื่องแนวทางการป้องกันและอบรมด้านกฎหมายและจิตวิทยา และในวันที่ 22 มิถุนายน ในเรื่องการใช้ศิลปะบำบัด