สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในการสร้าง “ศูนย์ความรู้เพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน” (KRAC) เพื่อผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางความรู้ระดับภูมิภาค
เมื่อปี 2565 ประเทศไทยได้รับผลการประเมินดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index) หรือ CPI จากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) ให้อยู่ในลำดับที่ 101 จาก 180 ประเทศทั่วโลก และอยู่ในลำดับที่ 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยคะแนนเพียง 36 คะแนน เพิ่มขึ้นจากเดิมเพียง 1 คะแนน เท่านั้น ในขณะที่ยุทธศาสตร์ชาติตั้งเป้าไว้ว่า ประเทศไทยจะต้องได้คะแนน CPI ไม่ต่ำกว่า 50 คะแนน ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์คอร์รัปชันในไทยนั้นสูงมาก และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีมาตรการต้านโกงจำนวนมากก็ตาม จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาควิชาการเพื่อสนับสนุนองค์ความรู้สู่การดำเนินงาน จนเกิดเป็นระบบนิเวศของการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับสังคมไทยในที่สุด
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมและสนับสนุนทางวิชาการ สร้าง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti – Corruption and good governance Collaboration: KRAC) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูล งานวิชาการ นวัตกรรมหรือเครื่องมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงความสำคัญของการจัดตั้งศูนย์ความรู้เพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน ว่า หนึ่งในเป้าประสงค์สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ คือ การแก้ไขปัญหารากเหง้าของสังคม ได้แก่ การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน การสร้างสังคมคุณธรรม และการส่งเสริมธรรมาภิบาล เพื่อสังคมไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นสังคมคุณธรรม มีธรรมาภิบาล โดยมุ่งประยุกต์ใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่สอดคล้องกับทิศทางของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ด้าน รศ.ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ว่า หนึ่งในประเด็นท้าทายของสังคมไทยในปัจจุบัน คือ ปัญหาการคอร์รัปชันที่มีความรุนแรง และสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมให้กว้างมากขึ้น และเพื่อยกระดับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์คอร์รัปชันไปในทางที่ดีขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ยินดีที่จะสนับสนุนด้านองค์ความรู้ทางวิชาการ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในงานต่อต้านคอร์รัปชันร่วมกันระหว่างสองหน่วยงาน
ในพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ มีการแสดงปาฐกถาของผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับนานาชาติและระดับชาติ โดยได้รับเกียรติจาก Prof. Matthew C. Stephenson, Harvard Law School, Harvard University ปาฐกถาในหัวข้อ “Opportunities and Challenge for Thailand to create a Center for Excellence in Anti – Corruption Research” สรุปใจความได้ว่า ศูนย์ความรู้เพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันนี้ จะเป็นโอกาสที่สำคัญในการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน และประชาชนทั่วไป จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเชื่อมโยงองค์ความรู้ในการต่อต้านคอร์รัปชันสู่การปฏิบัติงานจริง ซึ่งจะสร้างความก้าวหน้าให้กับกระบวนการทำงานต่อต้านคอร์รัปชันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และนานาชาติ จะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกและบทเรียนร่วมกัน เพื่อขจัดปัญหาคอร์รัปชันได้
นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ปาฐกถาในหัวข้อ “สถานการณ์และพัฒนาการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย” โดยกล่าวถึงสถานการณ์การคอร์รัปชันของประเทศไทยในปัจจุบัน ว่า แม้จะมีความรุนแรงมากขึ้น และมีรูปแบบที่ซับซ้อนกว่าเดิม แต่ด้วยความตื่นตัวของภาคประชาชนและคนรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นในการที่จะตรวจสอบการคอร์รัปชันในสังคม รวมถึงภาคเอกชนที่ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส และการนำเทคโนโลยีมาใช้ตรวจสอบข้อมูลการทำงานของภาครัฐและภาคเอกชน ความพยายามเหล่านี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่มากขึ้นในสังคมไทย
ทั้งนี้ ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค หัวหน้าศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค กล่าวสรุปว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำความพร้อมของประเทศไทยสู่การก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ภายใต้ฐานขององค์ความรู้ทางวิชาการสู่การปฏิบัติ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติ ผ่านโครงการและกิจกรรมต่อต้านคอร์รัปชันของศูนย์ฯ ตลอดทั้งปี 2566 ได้แก่ หลักสูตรการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาธิบาลออนไลน์ หลักสูตรการต่อต้านคอร์รัปชันเชิงปฏิบัติการสำหรับข้าราชการ ฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน และกิจกรรมการส่งเสริมการลงมือต้านโกงกับเครือข่ายระดับนานาชาติ โดยในวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ทางศูนย์ฯ จะจัดการประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติ ครั้งที่ 1 เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ งานวิชาการ และนวัตกรรมการต่อต้านคอร์รัปชัน พร้อมขับเคลื่อนงานร่วมกันในระยะยาว
“ศูนย์ KRAC จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จุดประกายความหวังของสังคม และสร้างบุคลากรที่จะเข้ามามีส่วนร่วมการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลของสังคมไทย” ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ กล่าวทิ้งท้าย