คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ลงนามความร่วมมือวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตร ๙ เดินตามพ่อ ผลิตกำลังคน เสริมสร้างประสบการณ์วิชาชีพนักศึกษา รองรับความต้องการภาคธุรกิจเกษตร ปศุสัตว์ และอาหาร พร้อมสนับสนุนพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย นวัตกรรม
หลักสูตร วท.บ. สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) นำโดย ดร.มงคล เทพรัตน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้แบบบูรณาการกับการทำงานในสถานประกอบการ ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตร ๙ เดินตามพ่อ นำโดย ร.ต.ต.อำพล แก้วมุสิก ประธานกลุ่มฯ ณ ห้องประชุมสำนักงานคณบดี ชั้น 2 อาคาร 62 เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือในการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการระหว่างการเรียนรู้ในสถานศึกษากับการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการตามสาขาวิชาชีพ การจัดการเรียนการสอนด้านสหกิจศึกษา และการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Cooperative and Work Integrated Education : CWIE)
นอกจากนั้น ยังมีจุดมุ่งหมายในการผลิตกำลังคน พัฒนาศักยภาพทางทักษะวิชาชีพ เสริมสร้างประสบการณ์วิชาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจเกษตร ปศุสัตว์ และอาหาร รวมทั้งเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัยงานสร้างสรรค์ สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และการดำเนินกิจกรรมด้านอื่น ๆ เช่น การฝึกอบรม และการบริการวิชาการแก่สังคม เป็นต้น ตามที่ทั้งสองฝ่ายเห็นสมควร ซึ่งบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 4 ปี นับตั้งแต่วันทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
ทั้งนี้ บทบาทของคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ประกอบด้วย 1. จัดให้คณาจารย์ นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการ เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาตนเอง เพื่อ Reskill/Upskill/New Skill ตามแผนการดำเนินกิจกรรมที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน 2. จัดให้มีผู้ประสานงานความร่วมมือกับสถานประกอบการ ทำหน้าที่เป็นคณะทำงาน ภายใต้ความร่วมมือโดยร่วมกันพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม พัฒนาสื่อการเรียนการสอน หรือ กิจกรรมอื่น ๆ ตามพันธกิจ ให้มีความทันสมัย และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ 3. ร่วมเสนอแนะแนวทางการดำเนินงาน ร่วมประชุม วางแผน จัดระบบ และจัดกิจกรรมอื่น ๆ ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อพัฒนากำลังคนอย่างมีประสิทธิภาพ และให้การดำเนินงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ข้อตกลงความร่วมมือ 4. ร่วมพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย งานสร้างสรรค์ สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และการดำเนินกิจกรรมด้านอื่น ๆ เช่น การฝึกอบรม การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม เป็นต้น 5. ส่งเสริมสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ สถานที่ และอำนวยความสะดวกในการเข้าปฏิบัติงานของบุคลากรจากสถานประกอบการ
ในส่วนบทบาทของสถานประกอบการ มีดังนี้ 1. ส่งเสริมสนับสนุนด้านวิชาการ โดยจัดให้บุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และความสามารถร่วมกันพัฒนานักศึกษา พัฒนาสื่อการเรียนการสอน การฝึกอบรม หรือกิจกรรมอื่น ๆ ให้มีความทันสมัย และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ร่วมกับมหาวิทยาลัย 2. ร่วมประชุม วางแผน จัดระบบ กำหนดระเบียบ ปรับปรุงหลักสูตร พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางการดำเนินงาน ประเมินผล การประกันคุณภาพการศึกษา และอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนากำลังคน และเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ของข้อตกลงความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพ 3. ร่วมพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย งานสร้างสรรค์ สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และการดำเนินกิจกรรมด้านอื่น ๆ เช่น การฝึกอบรม การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม เป็นต้น เพื่อให้สามารถดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ 4. ส่งเสริมสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ สถานที่ และอำนวยความสะดวกในการเข้าฝึกปฏิบัติงาน ฝึกอบรม และเข้าศึกษาดูงานของอาจารย์และนักศึกษา