ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินในวิกฤตโควิด-19 แล้ว ไปเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 66 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้ประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น
จากข้อมูล องค์การอนามัยโลก ดร.ไมค์ ไรอัน กรรมการบริหารโครงการฉุกเฉินด้านสุขภาพขององค์การอนามัยโลก และ ดร.มาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ หัวหน้าด้านเทคนิคสำหรับการตอบสนองของโควิด-19 ประจำองค์การอนามัยโลก ชี้แจง หลังจากองค์การอนามัยโลกได้ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินในวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว โดยอธิบายไว้ ดังนี้
1. ยังไม่สามารถกำจัดไวรัสโคโรนา 2019 ให้หมดไปจากโลก (eradication) หรือ หมดไปจากท้องถิ่น (elimination) ได้เพราะโคโรนา 2019 สามารถติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน และจากคนกลับสู่สัตว์ (zoonotic infection) จึงยากมากที่จะกำจัดไวรัสที่แพร่ระบาดในสัตว์และข้ามไปมาในคน
2. องค์การอนามัยโลก ยังถือว่าโควิด-19 ระบาดทั่วโลก (Pandemic) ยังไม่ใช่โรคประจำถิ่น (Endemic)
3. การระบาดของโควิด-19 ยังไม่ใช่โรคที่ระบาดตามฤดูกาล (Seasonal infectious disease) เหมือนไข้หวัดใหญ่ เพราะองค์การอนามัยโลกยังไม่พบรูปแบบการระบาดในแต่ละช่วงของปี ดังนั้น หากไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์เมื่อใด ก็สามารถเกิดการระบาดได้เมื่อนั้น ในทุกช่วงของปี
4. องค์การอนามัยโลก ยังไม่มีข้อมูลพอเพียงในขณะนี้ ที่จะกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม หรือ ความถี่ห่างในการฉีดวัคซีนและเข็มกระตุ้น แต่ยังคงสนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนในกลุ่มเปราะบาง เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เมื่อมีการระบาดของโควิด-19
ดังนั้น การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญมาก และแนะนำให้ประชาชนรับวัคซีนป้องกันและเพิ่มภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3BaEwbP