เร็ว ๆ นี้กำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลการระบาดของโรคอีกครั้ง นั่นคือ ช่วงฤดูฝน และเป็นช่วงที่นักเรียนเปิดเทอมแรก ทั้งนี้ โควิด-19 ยังคงเป็นโรคติดต่อที่ควรเฝ้าระวัง เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แม้อาการของโรคจะลดความรุนแรงลงก็ตาม ในขณะที่หลายคนยังพะวงกับการระบาดของโรคโควิด-19 มีข้อมูลจากนักวิจัย พบว่า ยังมีกลุ่มผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 หรือที่เรียกว่ากลุ่ม “โนวิด”
โนวิด (Novid) คืออะไร
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้ข้อมูลว่า โนวิด (Novid) เป็นชื่อเรียกบุคคลที่ใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด แล้วไม่ติดเชื้อ “โนวิด” มาจากการรวมคำว่า No” และ “COVID” เข้าด้วยกัน ซึ่งหมายถึง สถานการณ์ที่หลายคนสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด เช่น บุคคลในครอบครัวเป็นโควิด แม่ ลูกใกล้ชิดกันมาก แต่ไม่ติดเชื้อ ผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก หลีกเลี่ยงยาก เช่น ในสถานบันเทิง ตลาด สัมผัสผู้คนจํานวนมาก แต่ก็ไม่เป็นโควิดในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19
“ปัจจุบันพบคนที่ยังไม่ติดโควิด-19 น้อยกว่า 20% ทั้งนี้ มีบางคนอาจปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จึงทำให้ยังไม่ติด แต่บางคนก็อยู่ในสถานการณ์สัมผัสโรค แต่กลับไม่ติด ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าโนวิด” ศ.นพ.ยง กล่าว
งานวิจัยหลายแห่งได้ให้ความสนใจทางพันธุกรรม หรือ ยีนบางอย่างที่มีกลไกในการต้านทานการรับเชื้อ จากงานวิจัยพบผู้ป่วย HIV อาจจะมียีนจําเพาะต่อต้านการเข้าเซลล์ของเชื้อ HIV ในโควิด ซึ่งยังไม่รู้แน่ชัดว่า มียีนต้านทานโควิดหรือไม่ เชื่อว่ามีจำนวนน้อยมาก มีการดำเนินการวิจัยอยู่จากหลายภาคส่วน เพื่อหาวิธีการรับมือกับโรคระบาดต่อไป
การระบาดรอบใหม่ของโควิด 19 เพิ่งเริ่มต้น
ศ.นพ.ยง ให้ข้อมูลว่า การระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ด้วยโควิดสายพันธุ์ดาวดวงแก้ว, Arctulus (XBB.1 .16) ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 โควิดสายพันธุ์ใหม่นี้ ความรุนแรงไม่แตกต่างจากสายพันธุ์เดิม และสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
โควิดสายพันธุ์ดาวดวงแก้ว (XBB.1.16) เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่มีต้นกำเนิดในประเทศอินเดีย และได้รับการรายงานว่า เข้ามาในประเทศไทยในช่วงต้นปี 2566 ซึ่งเข้ามาแทนที่สายพันธ์ุที่แพร่กระจายในปัจจุบัน อย่างสายพันธุ์ปลาหมึกยักษ์ (Kraken) XBB.1.5 การติดต่อและการแพร่กระจายของสายพันธุ์นี้เป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น ประมาณ 1.2 เท่า และระบาดมากกว่า 30 ประเทศแล้ว ซึ่งประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้นโควิด-19 สายพันธุ์ดาวดวงแก้วเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ปลาหมึกยักษ์
ศ.นพ.ยง ชี้ว่า โควิด-19 สายพันธุ์ดาวดวงแก้ว (XBB.1.16) ไม่ได้รุนแรงไปกว่าสายพันธุ์เดิม แต่แพร่ระบาดง่าย เมื่อมีผู้ป่วยจำนวนมาก ก็ต้องพบผู้ป่วยอาการมากเป็นอัตราส่วนปกติ การดูแลรักษาผู็ป่วยก็ยังคงใช้วิธีการเช่นเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเฝ้าระวังอันตรายในกลุ่มเสี่ยง 608 และ เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี
วัคซีน ภูมิต้านทาน และการดูแลตัวเอง
วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 และช่วยลดความรุนแรงของโรค ปัจจุบันมีวัคซีน COVID-19 ให้เลือกฉีดมากมาย รวมถึงการฉีดเข็มกระตุ้นปีละครั้ง เพื่อลดความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเสี่ยง ในช่วงจุดสูงสุดการระบาดที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน การให้วัคซีนกระตุ้นอาจพิจารณาให้ในผู้ที่เสี่ยงต่อการติดโรค เช่น ผู้ที่สัมผัสกับผู้คนเป็นจำนวนมาก บุคลากรด่านหน้า คล้ายกับการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ส่วนในคนปกติที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ก็คงขึ้นอยู่กับความสมัครใจ
“นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว การป้องกันโรค COVID-19 ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งก็เหมือนกับวิธีการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ แนะนำให้ปฏิบัติตามมาตรการเบื้องต้น เช่น ใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ รักษาความสะอาดโดยใช้น้ำสบู่ หรือ แอลกอฮอล์เจล และหลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือ การหายใจใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย” ศ.นพ.ยง กล่าวทิ้งท้าย