เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ นายไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อส่งเสริมผู้เรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ให้ได้ศึกษาต่อในสายอาชีพชั้นสูง ณ ห้องอารีย์ 1-2 โรงแรม เดอะ ควอเตอร์ อารีย์ กรุงเทพฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้
เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่า นับจากปี 2563 ที่ สอศ. และ กสศ. ได้จับมือกันเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สร้างโอกาสให้เยาวชนที่ยากจนและด้อยโอกาส ได้เรียนต่อในสายอาชีวศึกษา และมีผู้สำเร็จการศึกษาภายใต้โครงการนี้ไปแล้วจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 5 ซึ่งการเรียนสายอาชีวศึกษาจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของ สอศ. ในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะและสมรรถนะสูง ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ
“โดย สอศ. ได้กำหนดทิศทางเพื่อขับเคลื่อนร่วมกับ กสศ. อาทิ การแต่งตั้งคณะทำงานให้เป็นไปตามขอบเขตและแผนงาน ได้จัดตั้งศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ประจำภูมิภาค 10 แห่ง เปิดโอกาสให้ผู้พิการและประชาชนทุกช่วงวัยมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอาชีวศึกษา และฝึกอบรมวิชาชีพ “สร้างโอกาส – ความเสมอภาค” เพื่อการสร้างคน สร้างอาชีพ ร่วมกับ กสศ. และภาคเครือข่าย ภายใต้การทำงานแบบมีส่วนร่วม ได้กำหนด Key Success ในการพัฒนาระบบดูแลความเป็นอยู่ และสวัสดิภาพ เช่น การดูแลผู้เรียนให้อยู่ในระบบ พัฒนาหลักสูตรให้มีคุณภาพสูง พัฒนาครูแกนนำ ร่วมลงนามกับ กรมสุขภาพจิต และการศึกษาวิจัย พัฒนานวัตกรรมยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา พร้อมขับเคลื่อนให้เป็นไปตามกลไกสู่มาตรฐาน”
ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ปัจจุบันนักเรียนในครัวเรือนที่ยากจน มีโอกาสศึกษาต่อในระดับ ม.ปลาย เพียง 53% ขณะที่ นักเรียนยากจนพิเศษสามารถเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้เพียง 8% และมีเยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปี ประมาณ 1.4 ล้านคน ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษา หรือ การฝึกอบรมใด ถูกเรียกสั้น ๆ ว่า เยาวชนกลุ่ม NEET (Youth Not in Employment, Education, or Training : NEET) คิดเป็น 15% ของเยาวชนทั้งหมด
“เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง สาเหตุมาจาก 1. ภาระค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่สูงเกินกว่าจะแบกรับ โดยเฉพาะในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ขณะที่ สวัสดิการการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับ ยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่ ครัวเรือนยากจน ยังกังวลเรื่องค่าเสียโอกาสในการทำงานหารายได้ หากต้องศึกษาต่อ 2. ระบบการเรียนการสอนที่ยังไม่ตอบโจทย์ชีวิตจริง และการมีงานทำ ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุให้เยาวชนเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยวุฒิการศึกษามัธยมต้น หรือ น้อยกว่า กลายเป็นแรงงานด้อยทักษะ และสืบทอดมรดกความยากจนข้ามรุ่น”
ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่า กสศ. ร่วมมือกับ สอศ. และคณะหนุนเสริมจากหลายสถาบัน พัฒนานวัตกรรมระบบการศึกษาเพื่อยุติความยากจนข้ามรุ่น ภายใต้โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ที่ออกแบบโดยยึดเด็กและเยาวชนเป็นศูนย์กลาง พร้อมกับตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในโลกยุคใหม่ไปด้วยกัน โดยมีจุดเน้นสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1. การส่งเสริมโอกาสการเข้าถึงการศึกษา ด้วยกลไกการแนะแนว เพื่อให้เด็กและครอบครัวมองเห็นโอกาสทางการศึกษาและการมีอาชีพ ตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน และสวัสดิการเรียนฟรีเต็มรูปแบบ ที่ตอบโจทย์ข้อจำกัดในชีวิตของเยาวชนกลุ่มนี้ 2. การยกระดับคุณภาพสถานศึกษา ให้มีหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างกำลังคนสมรรถนะสูง มีทักษะการทำงานในโลกยุคใหม่ การส่งเสริมโอกาสการมีงานทำของผู้ที่จะจบการศึกษา เพื่อประกันการเรียนแล้วได้วุฒิ ได้งานที่ตรงสาขาทันทีหลังจบการศึกษา ระบบการดูแลสวัสดิภาพ ความเป็นอยู่ และ สุขภาพจิต ของผู้เรียนให้สามารถจบการศึกษาตามหลักสูตร โดยไม่มีการออกกลางคัน
“ปัจจุบัน มีจำนวนทุนสะสมทั้งสิ้น 11,679 ทุน เป็นเด็กยากจนและด้อยโอกาส 11,251 คน เด็กที่มีความต้องการพิเศษ 428 คน คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 3,059,415,867 บาท ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงได้รับการพัฒนาให้มีสมรรถนะ มีผลการเรียนในระดับดีมาก 3.00-4.00 โดยเมื่อสำเร็จการศึกษากว่า 90% คือ คนแรกของครอบครัวที่มีการศึกษาสูงกว่าพ่อแม่ และ 82% มีงานทำ หรือ ศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น ช่วยยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัว ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้เข้าสู่ฐานภาษีของประเทศ ภายในระยะเวลา 5 ปี และพวกเขาจะเป็นบุคคลสำคัญของครอบครัวที่ช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่นได้” ดร.ไกรยส กล่าวทิ้งท้าย