มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ บริษัท ฟอร์ทิเนท ซีเคียวริตี้ เน็ทเวิร์ค (ประเทศไทย) จำกัด จัดพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง รองศาสตราจารย์สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา คณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ และ คุณภัคธภา ฉัตรโกเมศ ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฟอร์ทิเนท โดยมี รองศาสตราจารย์ ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธาน และกล่าวต้อนรับ ณ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ อาคารวิทยวิภาส มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อเร็ว ๆ นี้
มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำยุทธศาสตร์ระดับชาติ และแนวโน้มกระแสคลื่นด้านเทคโนโลยีระดับโลกที่สำคัญ โดยเฉพาะด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มาเป็นกรอบแนวคิด และจัดทำยุทธศาสตร์ โดยมอบหมายนโยบายสำคัญให้ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ (College of Computing) ได้มีการพัฒนาหลักสูตรที่มีความทันสมัย ตอบโจทย์กระแสโลกด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
รองศาสตราจารย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การพัฒนาปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ด้านการเรียนการสอน ให้บัณฑิตมีทักษะ ความรู้ ความสามารถที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย จึงเกิดความร่วมมือกับผู้ประกอบการในครั้งนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มีมาตรฐานระดับสากล และสามารถต่อยอดองค์ความรู้สู่การปฏิบัติงานจริงในอนาคต
ด้าน รองศาสตราจารย์สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา คณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต่อว่า วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ เป็นหนึ่งในหน่วยงานยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการผลิตบุคลากรและงานวิจัย ด้านการคอมพิวเตอร์ เพื่อตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศ ด้วยข้อมูลและการประมวลผลแบบ Cloud โดยคำนึงถึงความมั่นคงและความปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security) เพื่อรักษาความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ต่าง ๆ โดยการพัฒนาหลักสูตรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับปริญญาตรี ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) โดยที่ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ได้จัดการเรียนการสอนให้บัณฑิตมีทักษะ ความรู้ ความสามารถที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้มีโครงการพัฒนาหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่เน้นการพัฒนาทักษะที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม (Industrial based skill) รวมทั้งทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย
ความท้าทายด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลกในทุกภาคส่วน จากการเติบโตแบบทวีคูณของแรนซัมแวร์สายพันธุ์ใหม่ ไปจนถึงการโจมตีที่เพิ่มขึ้นบนเทคโนโลยีการปฏิบัติงานในกลุ่มอุตสาหกรรม หรือ OT ตลอดจนถึงการเพิ่มขึ้นของบริการการโจมตีแบบใหม่ ที่เรียกว่า Malware-as-a-Service (MaaS) ซึ่งหลาย ๆ องค์กรจะพบกับรูปแบบการโจมตีใหม่ ๆ ทำให้การปิดช่องว่างทางด้านทักษะการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ภายในองค์กร กลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงกว่าที่เคยเป็นมา
ขณะที่ คุณภัคธภา ฉัตรโกเมศ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ฟอร์ทิเนท ซีเคียวริตี้ เน็ทเวิร์ค (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า นอกเหนือจากการสรรสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยแล้ว ฟอร์ทิเนท ยังเชื่อมั่นในความสำคัญของบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เราจึงตั้งสถาบันอบรม Fortinet Training Institute ที่ปัจจุบัน คือ ผู้จัดหลักสูตรการอบรมด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่ใหญ่ที่สุด และครอบคลุมมากที่สุดแห่งหนึ่งในอุตสาหกรรม โดยการฝึกอบรมครอบคลุมถึงหลักสูตร Network Security Expert หรือ NSE และยังมีการทำงานร่วมกับ สถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลก เพื่อสร้างแพลทฟอร์มการเรียนรู้ ช่วยลดช่องว่างทางทักษะ สร้างอาชีพ และเพิ่มบุคลากรมืออาชีพในสายงานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ให้กับองค์กรธุรกิจในหลายประเทศทั่วโลก
คุณภัคธภา กล่าวต่อว่า ฟอร์ทิเนท ประเทศไทย มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสกระชับความร่วมมือในการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อมอบความรู้ให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ให้มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในด้านการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ ผ่านทางหลักสูตรการอบรมในระดับนานาชาติของฟอร์ทิเนท โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ และเพื่อช่วยลดช่องว่างทางทักษะด้านไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ให้น้อยลง
สำหรับความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของความร่วมมือ เพื่อช่วยกันพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ให้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ พร้อมพัฒนาพื้นฐานด้านการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ที่แข็งแกร่ง ตอบโจทย์ความต้องการบุคลากร และเป็นแรงสนับสนุนสำคัญให้กับทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างปลอดภัยจากภัยคุกคามที่จะมีผลต่อทั้งธุรกิจและเศรษฐกิจ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา คณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ กล่าวเสริมว่า วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ร่วมกิจกรรมในการพัฒนาการเรียนการสอนในโครงการ Fortinet security academy program โดยในระยะแรก วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ได้ส่งคณาจารย์เข้าร่วมอบรม Train the trainer เพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบใบประกาศนียบัตร Fortinet NSE Certification นอกจากนั้นแล้ว ในอนาคตนักศึกษาของวิทยาลัยจะมีโอกาสได้เข้าถึงทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับสากล แล้วยังได้รับสิทธิประโยชน์ในการสอบเพื่อรับใบรับรองมาตรฐานวิชาชีพจากทาง Fortinet อีกด้วย