กระทรวง อว. ปลดล็อกหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์เพิ่ม 3 หลักสูตร ผลิตบัณฑิตรองรับอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้า หนุนสร้างผปก.เชิงนวัตกรรมโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี และผู้นำธุรกิจสุขภาพ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา ซึ่งได้รับมอบอำนาจจาก สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จัดประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา ครั้งที่ 2/2566 โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานการประชุม มีวาระที่สำคัญในการร่วมพิจารณาอนุมัติข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์สำหรับการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) หรือ หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ หลักสูตรใหม่เพิ่มเติมอีก 3 หลักสูตร

ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า ปัจจุบันนวัตกรรมทางการอุดมศึกษาของประเทศไทยเริ่มขยายตัวดีขึ้น โดยอาศัย 2 แนวทาง ที่กระทรวง อว. สร้างขึ้นมาใหม่ แนวทางแรก คือ การจัดการศึกษาแบบแซนด์บ็อกซ์ ทั้งหลักสูตรที่ได้รับการอนุมัติเป็นหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์แล้ว และหลักสูตรอื่น ๆ ที่มีความน่าสนใจส่งเข้ามาพิจารณาเป็นหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ รวมกว่า 100 หลักสูตร ซึ่งการที่มีคำว่า “แซนด์บ็อกซ์” ขึ้นมานั้น เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะสร้างแรงบันดาลใจ และเปิดโอกาสในการทำนวัตกรรมในระดับอุดมศึกษาได้ แนวทางที่สอง คือ การจัดตั้งธัชวิทย์ หรือ วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences : TAS) เป็นการนำเอามหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของไทย ที่มีอาจารย์เก่ง ๆ และมีความรู้เชิงทฤษฎีมาจับคู่กับสถาบันวิจัยชั้นนำของประเทศกว่า 10 สถาบัน ที่มีความรู้ ผลงาน อันเกิดจากการทำงานวิจัยและงานสร้างสรรค์จริง ๆ รวมถึงมีเครื่องมือเข้ามาสนับสนุน โดยให้ทั้งสองส่วนมาสนธิกำลังกัน พัฒนาการอุดมศึกษา ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีไปจนถึงระดับปริญญาเอก

“เราได้ปฏิรูปวิธีการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์แบบใหม่ ให้ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่สนใจ และเรียนอย่างสนุกสนาน ถ้าเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในระดับสูงแค่ไหน สามารถตามไปศึกษาต่อได้เองทั้งหมด เชื่อมโยงกับการทำแซนด์บ็อกซ์ ต้องมองว่า การศึกษารูปแบบใหม่ที่คิดขึ้นมา จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมการอุดมศึกษาได้อย่างไร เราอยู่ในระบบอุดมศึกษาแบบใหม่ ไม่ใช่เน้นแค่การวิจัย แต่จะต้องไปสู่การทำอาชีพได้จริงด้วย” ดร.เอนก กล่าว

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล ประธานคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ชี้ให้เห็นถึงรายละเอียดสำคัญของทั้ง 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรที่ 1 หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม แขนงพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้า (ต่อเนื่อง) ของ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มีจุดเด่นที่ความร่วมมือกับภาคผู้ใช้บัณฑิตอย่างเข้มข้นตลอดกระบวนการ เพื่อเน้นการพัฒนาทักษะการปฏิบัติงานในวิชาชีพ มีการจัดการเรียนรู้ทั้งในลักษณะ Module-based เรียนควบคู่กับการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ โดยผู้เรียนจะได้รับเงินเดือน และในลักษณะ Project-based ซึ่งมีการปฏิบัติงานจริง และแก้ไขปัญหาจริงในสถานประกอบการ ตั้งเป้าผลิตบัณฑิตที่ปฏิบัติงานได้ทันที และมีมาตรฐานสากลจำนวน 300 คน หลักสูตรที่ 2 คือ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการเป็นผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม ของ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มีจุดเด่น คือ การสร้างผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยมีความร่วมมือกับ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ในการจัดการเรียนการสอนแบบ Co-creation เรียนแบบ Module-based และฝึกปฏิบัติจริงอย่างสม่ำเสมอ พร้อมดำเนินธุรกิจจริงในช่วง 6 เดือนสุดท้าย มีระบบพี่เลี้ยงดูแลและให้คำแนะนำนักศึกษา เพื่อให้สามารถพัฒนาแผนธุรกิจและดำเนินธุรกิจได้จริง ตั้งเป้าผลิตบัณฑิตผู้ประกอบการตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี 90 คน และ หลักสูตรที่ 3 คือ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาผู้นำธุรกิจสุขภาพเชิงสร้างสรรค์ ของ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นหลักสูตรความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และมหาวิทยาลัย ในรูปแบบ Active Cooperation เรียนแบบบูรณาการศาสตร์ จัดการเรียนการสอนแบบ Module-based ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ประกอบการธุรกิจสุขภาพที่ประเทศจีน มีการค้นคว้าอิสระในรูปแบบการจัดทำ และ Pitching แผนธุรกิจเวลเนสที่พร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์ และประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการยอมรับในวงการ รวมถึงมีระบบให้คำแนะนำผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบ Co-operative Coaching โดยผู้เข้าเรียนจะสามารถจบการศึกษาได้ภายในระยะเวลา 10 เดือน ตั้งเป้าผลิตบัณฑิตที่เป็นผู้นำธุรกิจในอุตสาหกรรมเวลเนส จำนวน 90 คน

รัฐมนตรี อว. กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรที่ทำเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า และการดัดแปลงรถยนต์สันดาปเป็นยานยนต์ไฟฟ้านั้น เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องเร่งผลิตคนตอบสนองความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยได้แนะให้ กระทรวง อว. ช่วยต่อยอด โดยประสานกับ วิทยาลัยอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพ และภาคอุตสาหกรรม พัฒนาหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์เพิ่มเติม โดยต้องเน้นการผลิตคนให้ได้ปริมาณมาก เพื่อให้ทันต่อความต้องการ ในส่วนของหลักสูตรการสร้างผู้ประกอบการต้องเน้นไปที่การใส่วัฒนธรรมการเป็นผู้ประกอบการลงไปในหลักสูตร การลงมือปฏิบัติจริง ผู้ประกอบการต้องสร้างรายได้ หรือ ทำให้ธุรกิจเติบโตได้จริง จึงจะถือว่าประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำถึงการทำหลักสูตรให้คำนึงถึงความต้องการในฝั่งภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น และต้องมองถึงการทำหลักสูตรในรูปแบบ Top down เพื่อตอบโจทย์การผลิตกำลังคนที่ประเทศต้องการอย่างแท้จริง อุดมศึกษาแบบจบไปมีงานทำ และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศได้

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ให้ความเห็นถึงการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า กระทรวง อว. อาจต้องจัดแพ็กเกจการสนับสนุนเรื่องนี้ เนื่องจากกระทรวงมีเครือข่าย มีบริษัทที่ทำงานร่วมกันอยู่เป็นจำนวนมาก การเรียนการสอนให้เกิดผลจริงจึงต้องเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม เพราะเทคโนโลยีต่าง ๆ จะมาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ส่วนหลักสูตรที่จะสร้างผู้ประกอบการตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจีนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ การพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ (Expert) หรือ Manager ซึ่งอาจก่อตั้งเป็น Startup ลงไปตรวจสอบคาร์บอนเครดิตในโรงงาน เนื่องจากในปัจจุบันยังขาดแคลนมาก โดยต้องเชื่อมโยงกับเครือข่ายระดับนานาชาติ รวมถึงหน่วยงานในประเทศ เช่น สมาคม RE100 องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และ สอวช. เอง และอีกส่วนหนึ่ง คือ ต้องพัฒนากระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปที่อาจารย์ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเป็นวงกว้าง เนื่องจากเป็นองค์ความรู้ใหม่ และอยู่ในระดับสากล

นอกจากนี้ ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รองผู้อำนวยการ สอวช. และคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ได้กล่าวถึงภาพรวมความก้าวหน้าการดำเนินการจัดการศึกษาแบบแซนด์บ็อกซ์ โดยมีข้อเสนอเชิงหลักการฯ ที่ส่งเข้ามาเพื่อพิจารณาเข้าเป็นหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์รวม 168 ข้อเสนอ ซึ่ง 150 ข้อเสนอ นับเป็นนวัตกรรมการจัดการศึกษาที่สามารถดำเนินการได้ทันที ภายใต้เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2565 ที่ได้ปรับให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นแล้ว และมีข้อเสนอที่ได้รับการยกเว้นเกณฑ์ที่เป็นข้อจำกัด และอนุมัติให้จัดการศึกษาแบบแซนด์บ็อกซ์ โดยคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องไปแล้ว 6 ข้อเสนอ ซึ่งมีเป้าหมายในการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงรวม 18,955 คน ภายใน 10 ปี

RANDOM

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดประกวดภาพยนตร์สั้น “พราวไทย : Proud Thai สืบสาน อนุรักษ์ สร้างสรรค์เอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย” หัวข้อ “ อาหารไทย / นาค / รอยยิ้ม / ดนตรี” ชิงทุนการศึกษารวม 420,000 บาท สมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ – 28 เม.ย. 66

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!