ศ.ร.ต.อ.หญิง ภญ.ดร.สุชาดา สุขหร่อง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และ นักวิจัยจากศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านดีเอ็นเอบาร์โค้ดของพืชสมุนไพรไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.กรรณิกา ทองขาว และ ภก.ชยพล ตั้งพัฒน์ทอง คว้ารางวัลเหรียญทอง และได้รับรางวัลพิเศษ (Special award) จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ รางวัล FIRI Award ในประเภทนวัตกรรมยอดเยี่ยม (The Best Invention) จาก องค์กรด้านนวัตกรรม “The first institute of inventors and researchers of Iran” (FIRI) สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน และ รางวัลพิเศษ จาก องค์กรด้านนวัตกรรม “INDUSTRIAL PROPERTY OFFICE OF THE CZECH REPUBLIC THE CZECH METALLURGICAL SOCIETY” สาธารณรัฐเช็ก จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ The 16th International Invention and Innovation Show (INTARG 2023) เมื่อวันที่ 24 – 25 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ Katowice International Conference Centre เมืองคาโตไวซ์ สาธารณรัฐโปแลนด์ จาก ผลงานนวัตกรรม “Rapid DNA immunochromatographic assay for detection of toxic Aristolochia species, the plants responsible for aristolochic acid nephropathy” (ชุดตรวจดีเอ็นเออย่างรวดเร็วแบบแถบสีที่จําเพาะต่อพืชพิษสกุลอริสโทโลเกียที่ทําให้เกิดโรคไตจากกรดอริสโทโลคิก)
งานประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงานจากทั่วโลกทั้งสิ้นกว่า 30 ประเทศ จำนวนมากกว่า 300 ผลงาน โดยประเทศไทยมีจำนวนหน่วยงานที่เข้าร่วมมากถึง 29 ผลงาน จาก 19 หน่วยงาน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี โรงเรียนสตรีวิทยา และโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย การเข้าร่วมงานประกวดนวัตกรรมครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุน จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สำหรับที่มาของนวัตกรรมนี้ เกิดจากความสนใจในเรื่องสมุนไพรไคร้เครือ ซึ่งเป็นส่วนรากของพืชในสกุลอริสโทโลเกีย (Aristolochia) ที่ใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก รวมทั้งเป็นองค์ประกอบของตำรับยาไทย มีสรรพคุณ แก้พิษไข้ เจริญอาหาร ชูกำลัง แต่พืชในสกุลดังกล่าว มีกรดอริสโทโลคิก (Aristolochic acid) เป็นองค์ประกอบทางเคมี ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์และทำให้เกิดโรคไตได้หลายชนิด เช่น ไตวาย มะเร็งไต และ มะเร็งทางเดินปัสสาวะ จากการติดตามการใช้สมุนไพรไคร้เครืออย่างต่อเนื่อง โดยทีมคณะผู้วิจัยของศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านดีเอ็นเอบาร์โค้ดของพืชสมุนไพรไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมี ศ.ร.ต.อ.หญิง ภญ.ดร.สุชาดา สุขหร่อง เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ พบว่า ยังมีการจำหน่าย และยังมีการผสมพืชในสกุลนี้ในตำรับยา
นวัตกรรม “ชุดตรวจดีเอ็นเออย่างรวดเร็วแบบแถวสีที่จำเพาะต่อพืชพิษสกุลอริสโทโลเกีย” ประกอบด้วย ชุดไพรเมอร์ที่ติดแอนติเจน (Antigen-labeled primer set) และ แถบชุดตรวจแสดงผล (Lateral flow test kit) สามารถใช้ในการตรวจสอบการมีอยู่ของพืชในสกุลอริสโทโลเกีย เช่น สมุนไพรไคร้เครือ ในตัวอย่างยาสมุนไพรหลายรูปแบบ เช่น เครื่องยา ผงยา สูตรตำรับยาลูกกลอน ได้อย่างแม่นยำและถูกต้อง มีความไวสูง ใช้งานง่าย สามารถแปลผลได้ด้วยตาเปล่า ภายใน 90 นาที โดยการอ่านแถบสีที่มีลักษณะคล้ายแถบสีที่ตรวจโควิด-19 หรือ ตรวจการตั้งครรภ์ โดยสามารถใช้ “ชุดตรวจดีเอ็นเออย่างรวดเร็วแบบแถบสีที่จำเพาะต่อพืชพิษสกุลอริสโทโลเกีย” ในการตรวจสอบวัตถุดิบสมุนไพรสำหรับผู้ประกอบการ หรือ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปสำหรับหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐ ตลอดจนหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ ทางศูนย์เชี่ยวชาญฯ มีความตั้งใจที่จะพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมดังกล่าว ให้ตรวจได้รวดเร็วขึ้นอีก และสามารถใช้งานได้ง่าย ณ จุดที่ต้องการตรวจ และทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถทดสอบยาสมุนไพรที่บริโภคอยู่ได้เอง