มจธ. ผนึกกำลังเครือข่าย เสริมทักษะคนพิการบ้านเต่างอย จ.สกลนคร ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ “ผงสีธรรมชาติจากพืช” หวังเจาะกลุ่มผู้บริโภค Niche Market

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter
การสกัดสีย้อมจากวัสดุธรรมชาติ เป็นภูมิปัญญาวัฒนธรรมมายาวนาน ปัจจุบันกระบวนการผลิตสีมีการพัฒนารูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น จากฝีมือของคนพิการชุมชนบ้านเต่างอย จังหวัดสกลนคร ภายใต้แบรนด์ “เฮ็ดดิ” ในโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการและผู้สูงอายุ ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ล่าสุด กำลังพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ “ผงสีธรรมชาติจากพืช” เพื่อนำไปทำผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่สีย้อมผ้า อาทิ สีเทียน สีน้ำวาดรูป หรือ การนำไปผลิตเทียนหอม เป็นต้น 
ผลิตภัณฑ์ผงสีธรรมชาติจากพืชเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) สีตามธรรมชาติที่ได้จากพืชจะแตกต่างกัน เช่น ดอกดาวเรือง เมื่อแยกเม็ดสีออกมาแล้ว จะได้สีเหลืองเอ้อเฮ่อ ตามภาษาอีสาน คือ สีเหลืองสดมาก ๆ ต้นรงทอง สีที่ได้จากยาง จะให้สีเหลืองที่สว่างกว่า สำหรับดอกกุหลาบที่เราเห็นเป็นสีแดง จริง ๆ แล้วธรรมชาติของกุหลาบจะให้สีน้ำเงิน หรือ สีชมพูม่วง ๆ ที่เห็นเป็นสีแดง เพราะเยื่อผิวของกลีบดอก เมื่อโดนแสงตกกระทบมาเข้าตา ทำให้เรามองเห็นเป็นสีแดง” พรพิมล มิ่งมิตรมี (ครูหมิว) ศิลปินท้องถิ่นบ้านหนองส่าน อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Craft Colour และ กูรูเรื่องสี ให้ความรู้
ครูหมิว บอกว่า ได้รับการติดต่อจาก มจธ. ให้เข้ามาช่วยถ่ายทอดความรู้จากงานที่เราทำอยู่ เพื่อเพิ่มทักษะให้กับกลุ่มคนพิการ และให้ร่วมออกแบบการเรียนรู้ในท้องถิ่น รวมถึงพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมกับสมาชิกคนพิการที่เข้าอบรมในโครงการฯ ตนจึงได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ ส่วนแนวคิดในการเลือกทำผงสีธรรมชาติ ปัจจุบันตลาดส่วนใหญ่จะเป็นสีย้อม ไม่ใช่ผงสี และ การทำผงสี จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนพิการได้มีทางเลือกใหม่ ๆ เพราะมีตลาดรองรับ สามารถสร้างเป็นอาชีพ สร้างรายได้ โดยจะสอนการทำผงสีต่าง ๆ จากวัสดุธรรมชาติในพื้นที่ตำบลเต่างอย สร้างเป็นคอลเลกชันผงสีพิเศษของตำบลเต่างอย 
สำหรับขั้นตอนการทำผงสี เริ่มจากการสำรวจหาวัตถุดิบพืชที่อยู่ในท้องถิ่น นำใบ ดอก เปลือก ราก หรือส่วนต่าง ๆ ของลำต้น มาตำหรือบด เติมสารส้มเพื่อสกัดสี ใส่ดินสอพองคนให้ตกตะกอน นำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำไปอบ แล้วนำมาตำหรือบดให้เป็นผงละเอียด ก็จะได้เป็นผงสีธรรมชาติ โดยพืชให้สีจากธรรมชาติที่นำมาทดลองผลิตเบื้องต้นจากกิจกรรมครั้งนี้ พบว่า ดอกไม้ที่เหมาะนำมาทำผงสี ได้แก่ ดอกดาวเรือง ให้สีเหลือง ใบสาบเสือ ให้สีโทนเหลืองและเขียว ใบหางนกยูง ให้สีเขียว และ เปลือกเมล็ดอินทนิลน้ำ ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสกลนคร ให้สีน้ำตาล เป็นต้น แต่สิ่งที่ต้องคำนึง คือ วัตถุดิบเหล่านี้จะต้องมีในปริมาณที่มากเพียงพอจะผลิตเป็นผงสีที่จะนำมาใช้อย่างต่อเนื่องต่อไปได้  เช่น ดอกอัญชัน เหมาะใช้เป็นสีผสมอาหารมากกว่านำมาทำผงสี เพราะสีที่ได้เพียง 1 กรัม จะต้องใช้ปริมาณดอกสดเป็นจำนวนมาก
.
“การได้เข้าร่วมโครงการกับ มจธ. ครั้งนี้ ทำให้เห็นว่า ถึงแม้สภาพร่างกายของกลุ่มคนพิการจะไม่เอื้ออำนวย แต่ใจของทุกคนสู้มาก รู้สึกมีความสุขมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคม และดีใจมากที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับทุกคน” ครูหมิว กล่าว
นอกจากกิจกรรมการสอนทำผงสีแล้ว ภายใต้ “หลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น ในโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการและผู้สูงอายุของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)” พื้นที่ชุมชน ต.เต่างอย อ.เต่างอย จ.สกลนคร ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 (ระยะเวลาอบรม ตั้งแต่เดือนเมษายน – ตุลาคม 2566) ยังมีการอบรมให้ความรู้ด้านการตลาดจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ พฤติกรรมผู้บริโภค ความเป็นไปได้ และโอกาสของผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ (ECO Product) กลุ่มลูกค้า ความรู้เบื้องต้นด้านการจัดการธุรกิจ และพื้นฐานการบริหารธุรกิจในยุคดิจิทัล กระบวนการจัดการธุรกิจรูปแบบต่าง ๆ การทำบัญชี การวางแผน  และการออกแบบ รวมถึงความรู้พื้นฐานด้าน e-Commerce ทักษะการถ่ายและการตัดต่อวิดีโอ ฯลฯ ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ
ผศ.วรนุช ชื่นฤดีมล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. ในฐานะหัวหน้าหลักสูตรฯ  กล่าวว่า การฝึกอบรมของคนพิการ รุ่นที่ 3 นี้ มีคนพิการที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 12 คน ส่วนใหญ่เป็นคนพิการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว แขนขาอ่อนแรง และด้านการได้ยิน ซึ่งรุ่นนี้เป็นรุ่นสุดท้ายสำหรับโครงการฯ นี้ จากการดำเนินงานรุ่นแรก ที่จะเน้นเรื่องของการออกแบบชิ้นงานหัตถกรรมที่ใช้ฐานทุนวัตถุดิบและภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การย้อมสีธรรมชาติ การถักมัดไม้กวาด รุ่นสอง เริ่มมีการแบ่งทีมโครงสร้างการทำงานมากขึ้น และเน้นเรียนลงลึกในการย้อมสีธรรมชาติให้ได้คุณภาพและสวยงาม ทำให้ใน รุ่นที่สามนี้ เราจึงอยากลงลึกมากขึ้นในเรื่องของ “สีธรรมชาติ” จากวัตถุดิบในท้องถิ่นที่ใช้ในการ workshop สอนทำผงสี ณ พื้นที่บ้านนาฮี  ซึ่งความรู้เรื่องสีธรรมชาติในท้องถิ่น จะทำให้ภาพของ “เฮ็ดดิคราฟ” ชัดเจนมากขึ้น เพื่อสร้างผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Leadership) โดยมีเป้าหมายปลายทางที่หวังไว้ คือ จะทำให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) ที่สามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้
ด้าน นายศิริพัฒน์ กล่ำกลิ่น ที่ปรึกษาและวิทยากรสถาบันพัฒนา และทดสอบทักษะดิจิทัล (DDTI) ในฐานะวิทยากร กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากในปีนี้ มีคนพิการที่เข้าร่วมมาจากรุ่นที่ 2 จำนวน 4 คน และ คนใหม่ 8 คน จึงมีทักษะที่ต่างกัน ทำให้ต้องมาปรับจูนวิธีการทำงานกันใหม่ และจะต้องพยายามสื่อสารให้เขาได้เห็นภาพของงานที่ตรงกัน ซึ่งแรก ๆ อาจจะยังไม่เข้าใจว่าทำอะไร เพราะจริง ๆ แล้ว การทำผงสี ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขามาก หลายคนไม่เคยเห็นและสัมผัสมาก่อน จึงต้องใช้ความพยายามกันค่อนข้างมาก นอกจากตัวผลิตภัณฑ์แล้ว เราก็อยากให้คนพิการมีทักษะทั้งเรื่องแนวคิดและการบริหารจัดการ เพื่ออย่างน้อยองค์ความรู้ทักษะด้านการบริหารจัดการจะติดตัวเขาไปด้วย เพราะเมื่อจบโครงการไป เขาจะสามารถนำเอาความรู้เหล่านี้ไปปรับใช้กับธุรกิจส่วนตัวของเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตร หรือ เลี้ยงสัตว์
ขณะที่ ผศ. ดร.บุษเกตน์ อินทรปาสาน อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. กล่าวต่อว่า นอกจาก ครูหมิว กูรูเรื่องสี ที่มาช่วยสอนการทำผงสีแล้ว ยังมีศิลปิน เช่น คุณแมน-ปราชญ์ นิยมค้า สมาชิกกลุ่มสกลเฮ็ด , คุณแพรี่พาย อินฟลูเอนเซอร์ด้านสีธรรมชาติ ที่มาช่วยวางแผนการออกอีเว้นท์ จัดแสดงผลงานต่าง ๆ และเนื่องจากในปีนี้ เรายังเน้นเรื่องการตลาด จึงได้วางแผนการทำตลาดสินค้าคนพิการ 4 ภูมิภาค ขึ้น โดยจะเป็นการจัดในรูปแบบ Social Enterprise (SE) เพื่อเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม โดยในปีนี้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นภายใต้โครงการฯ เบื้องต้นจะนำไปออกบูธจำหน่ายภายในงาน 10 ปี โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการ ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการและผู้สูงอายุ ณ มจธ. บางมด ในวันที่ 27 ต.ค. และ สวนแมน Creative Crafts Center ในงานเทศกาลสกลจังซั่น ระหว่างวันที่ 8 – 11 ธ.ค. 2566 
“ขณะนี้เรากำลังวางแผนการทำตลาดสินค้าคนพิการ 4 ภาค ขึ้น ประกอบด้วย ภาคอีสาน ที่ จ.สกลนคร ภาคเหนือ ที่ จ.แม่ฮ่องสอน และ ภาคใต้ ที่ จ.ภูเก็ต ส่วน ภาคตะวันออก กำลังอยู่ระหว่างประสานหน่วยงาน หรือ ภาคเอกชนที่สนใจ โดยคาดหวังว่า คนพิการเมื่อจบโครงการนี้ไปแล้ว จะสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง สามารถนำความรู้ที่ได้ไปทำธุรกิจของตัวเอง หรือ ต่อยอดเป็นรายได้เสริม ไม่ต้องพึ่งพาเงินทุนจากภายนอกอีก” ศิริวัฒน์ คันทารส รองผู้จัดการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ วิทยากรอีกท่านหนึ่ง กล่าวในตอนท้าย
.
สำหรับหลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น เป็นหนึ่งในสามหลักสูตรในโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการ”ภายใต้ โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการและผู้สูงอายุ ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) รุ่นที่ 3 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก  บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 35 ซึ่งคนพิการที่เข้าร่วมฯ อบรม ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยจะได้รับเบี้ยเลี้ยง อาหารกลางวัน และ ค่าเดินทาง ตลอดระยะเวลาในการฝึกอบรม

RANDOM

แพทย์ สจล. เปิดรับสมัครนักศึกษา ป.โท สาขาการพัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพ (หลักสูตรนานาชาติ) ก้าวสู่นักสร้างสรรค์เทคโนโลยีสุขภาพ รองรับโลกดิจิทัล ยื่นใบสมัครได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 15 พฤษภาคม 2567

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!