เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายสุเทพ ชิตยวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะคณะที่ปรึกษา รมว.ศธ. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายคมกฤช จันทร์ขจร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) รักษาราชการแทนอธิบดี สกร. ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงแรงงาน (รง.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตลอดจนผู้บริหาร ข้าราชการ และ บุคลากร ศธ. ร่วมจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ถวายภัตตาหาร และจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ พร้อมทำพิธีเปิดป้าย “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” อย่างเป็นทางการ
ในอดีตที่ผ่านมา มีการจัดตั้ง “กองการศึกษาผู้ใหญ่” เพื่อส่งเสริมการรู้หนังสือของประชาชน และได้ปรับฐานะมาเป็น “กรมการศึกษานอกโรงเรียน” หรือ ที่รู้จักกันในนาม กศน. ได้ขยายภารกิจในการจัดการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย รวมทั้งเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และประชาชนทั่วไปทุกช่วงวัย ได้เข้ารับบริการการศึกษา และการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ ทำให้ กศน. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคนให้มีความรู้ และทักษะความสามารถ ยกระดับการศึกษาของประชาชนให้สูงขึ้น พร้อมจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะต่าง ๆ ให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
ปัจจุบันวิถีชีวิตและการเรียนรู้ของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร ทำให้ประชาชนเกิดความต้องการในการแสวงหาความรู้รูปแบบใหม่ ๆ รัฐบาล และ กระทรวงศึกษาธิการ จึงเห็นควรให้มีการปรับโครงสร้างหน่วยงานภายในเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษา และการเรียนรู้ของประชาชน จึงได้ผลักดันพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 และ จัดตั้ง “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” ขึ้น เพื่อปฏิรูปการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทุกรูปแบบ ทุกที่ ทุกเวลา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
อ้างอิงจาก ศธ. 360 องศา