วช. ร่วมกับ Deutscher Akademischer Austauschdienst (DAAD) เปิดรับสมัคร “ทุนเสริม DAAD” ปี 2023 ที่มีโครงการวิจัยร่วมกันไทย-เยอรมนี รับสมัครตั้งแต่บัดนี้ – 31 ส.ค. 66

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ขอเชิญชวนอาจารย์ที่ปรึกษา และ นักศึกษาที่ได้รับทุน คปก. ที่มีโครงการวิจัยที่มีความร่วมมือกับนักวิจัยเยอรมัน สมัครขอทุนโปรแกรม Programmes for Project-Related Personal Exchange (PPP) ปี 2023 โดยความร่วมมือกัน ระหว่าง วช. และ The German Academic Exchange Service (Deutscher Akademischer Austauschdienst : DAAD) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยจะให้ทุนแก่อาจารย์ที่ปรึกษาทุน คปก. นักศึกษา คปก. และ นักวิจัยหลังปริญญาเอกไทย-เยอรมัน ที่มีโครงการวิจัยร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านความร่วมมือในการวิจัย เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ – 31 สิงหาคม 2566

สาขาวิชาที่เปิดรับสมัคร
สาขาสัตวแพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์การเกษตรและวนศาสตร์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม แพทยศาสตร์ ชีววิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพและโภชนาการ วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ ฟิสิกส์ เคมี วัสดุศาสตร์ ธรณีศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และ เศรษฐศาสตร์ (ไม่รับพิจารณาข้อเสนอด้านที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา ดนตรี ศิลปะ)

ทุนที่ให้
งบประมาณจากโครงการ Programmes for Project-Related Personal Exchange (PPP) สามารถใช้เพื่อสนับสนุนค่าเดินทาง ค่าประกันสุขภาพ และค่าครองชีพที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานร่วมกันในโครงการเท่านั้น ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น bench fee , ค่าดำเนินการ , ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด และ ค่าเดินทางในประเทศ
DAAD จะสนับสนุนค่าเดินทางของนักวิจัยชาวเยอรมัน และการรับรองนักวิจัยไทยที่ประเทศเยอรมนี นักวิจัยเยอรมันจะสมัครขอรับทุนได้สูงสุด 10,000 ยูโร/โครงการ/ปี
คปก .จะสนับสนุนค่าเดินทางของนักวิจัยชาวไทย และการรับรองนักวิจัยเยอรมันในประเทศไทย ภายใต้งบประมาณโครงการ คปก. สำหรับกิจกรรมต่างประเทศเท่านั้น

อัตราค่าพาหนะและค่าประกัน (เหมาจ่าย) สำหรับการเดินทางของนักวิจัยเยอรมันที่ DAAD ให้
– อาจารย์ที่ปรึกษาทุน คปก. / นักวิจัยหลังปริญญาเอก 1,350 ยูโร
– นักศึกษาทุน คปก. 850 ยูโร

ระยะเวลาที่ DAAD ให้ทุน
2 ปี แต่ถ้ามีความจำเป็น อาจขอขยายเวลาต่อได้อีก 1 ปี โดยต้องส่งใบสมัครเพื่อพิจารณาขยายเวลาเป็นกรณีไป ทั้งนี้ รวมระยะเวลาสูงสุดแต่ละโครงการไม่เกิน 3 ปี อย่างไรก็ตาม การได้รับทุนในปีที่ 3 จะขึ้นอยู่กับการจัดสรรงบประมาณที่ DAAD ได้รับ

การพิจารณาให้ทุน
ผู้ให้ทุนแต่ละฝ่ายจะพิจารณาข้อเสนอโครงการ และหารือร่วมกัน โดยมีเกณฑ์สำคัญในการคัดเลือก ได้แก่
– คุณภาพของโครงการ (โดยเฉพาะความชัดเจนของเป้าหมายโครงการ และวิธีการวิจัย)
– สถานะปัจจุบันของหัวข้อโครงการวิจัย (ความเป็นปัจจุบันของหัวข้อโครงการและนวัตกรรมของโครงการ)
– ความเป็นไปได้ของโครงการวิจัย (โดยเฉพาะกรอบงบประมาณ การเตรียมความพร้อม และการวางแผนการเดินทางไปเยือนอีกฝ่าย)
– ความสามารถที่เกี่ยวข้องของนักวิจัยฝ่ายไทนและเยอรมัน
– การเสริมสร้างซึ่งกันของนักวิจัยวิจัยในโครงการความร่วมมือ เช่น วิธีการวิจัย เนื้อหา อุปกรณ์ ฯลฯ
– การมีส่วนร่วมของนักวิจัยรุ่นเยาว์
– การถ่ายทอดความรู้ระหว่างนักวิจัยเยอรมันและไทย
– การใช้ประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ และ/หรือ เชิงอุตสาหกรรมจากผลงานการวิจัย
– มูลค่าเพิ่ม (ด้านวิชาการ สถาบัน หรือ ทั่วไป) ที่จะได้รับจากความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศ
– อื่น ๆ เป็นต้น

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://shorturl.asia/l9RQd

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ กลุ่มงานพัฒนาและสนับสนุนเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม กองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 3 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โทร. 02-579-1370-9 ต่อ 423 , 424 , 486 (ขนิษฐา / ภรรทรทร)

RANDOM

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!