มหาวิทยาลัยขอนแก่น จับมือ ลิลลี่ ฟาร์มา ประกาศความสำเร็จ ด้วยการเปิดตัว “Lily Nanoemulsion Homogenizer machine” เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ปฏิวัติรูปแบบวงการอุตสาหกรรม ยกระดับคุณภาพ อาหาร ยา และเครื่องสำอาง โดยการใช้เทคโนโลยีนาโนอิมัลชั่น ที่สามารถนำสารออกฤทธิ์มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีนโยบายในการสร้าง start up โดยร่วมทุนกับภาคเอกชน ซึ่งให้ภาคเอกชนเป็นผู้ริเริ่ม โดยเริ่มจากมุมมองความต้องการของตลาดในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ และย้อนกลับมาดูกระบวนการผลิตว่า สามารถแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีได้หรือไม่ หากเป็นไปได้ก็จะกลับมาค้นหากระบวนการวิจัยที่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ ซึ่งเราเรียกแนวคิดนี้ว่า เป็นการวิจัยสู่ตลาด โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ทำการวิจัย การผลิต และนำออกสู่ตลาด ส่วนบทบาทของมหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนอุปกรณ์ทางการวิจัย และการทดสอบผลิตภัณฑ์ รวมถึงจัดทีมอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละฝ่ายให้คำปรึกษาแก่ภาคเอกชน ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีใหม่ในการทำ start up ของมหาวิทยาลัย โดยดำเนินการร่วมมือกับทาง บริษัท มิส ลิลลี่ ก่อตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้น ในปี 2565 ซึ่งบริษัทร่วมทุนจะเน้นเทคโนโลยีทางด้านนาโนอิมัลชั่น ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น N-Dro care mouth spray
นอกจากนี้ บริษัทร่วมทุนได้นำเอาความรู้มาต่อยอดสู่การผลิตเครื่องจักรนาโนอิมัลชั่นจนประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ต้องการให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย เพื่อนำความรู้จากงานวิจัยออกสู่ตลาด
ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา กล่าวต่อว่า ทิศทางของเทคโนโลยีนาโนอิมัลชั่น และงานวิจัยในหลายสาขาได้ให้ความสำคัญกับการนำส่งสารในรูปแบบนาโนอิมัลชั่น ซึ่งเป็นการนำสารออกฤทธิ์ให้อยู่ในส่วนของน้ำ หรือ น้ำมัน ที่มีขนาดอนุภาคนาโน โดยถูกผสานเข้าด้วยสารอิมัลซิไฟเออร์ ซึ่งเป็นการนำส่งสารที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว และใช้สารในปริมาณน้อย ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม มนุษย์ และสัตว์ ซึ่งปัจจุบันในหลายอุตสาหกรรมได้พยายามที่จะผลิตผลิตภัณท์ในรูปแบบนาโนอิมัลชั่นออกสู่ท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมเกษตร เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และ ยากำจัดวัชพืช อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมอาหารและยาสัตว์ และ อื่น ๆ แต่ประเทศไทยยังมีปัญหาในการผลิต เนื่องจากเครื่องจักรดังกล่าวมีราคาที่สูงมาก
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมมือกับ บริษัท ลิลลี่ ฟาร์มา ในการสร้างกระบวนการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงนาโนอิมัลชั่น โฮโมจีไนเซอร์ จากห้องปฏิบัติการสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลงานการวิจัยและพัฒนาโดยฝีมือคนไทย จากทีมงานนักวิจัยและวิศวกร ของ บริษัท ลิลลี่ ฟาร์มา จำกัด ที่สามารถนำข้อมูลและประสบการณ์จากห้องวิจัยที่มีข้อจำกัด มาพัฒนาใช้ในเชิงอุตสาหกรรม (Production Scale) เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับวงการอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีนาโนอิมัลชั่น ให้สามารถนำสารออกฤทธิ์มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันเรากำลังทำการวิจัย ทั้ง ยาสัตว์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และยากำจัดวัชพืช รวมไปถึงอาหารเสริม ที่อยู่ในรูปแบบนาโนอิมัลชั่น
ด้าน นาย เรวัต จินดาพล CEO บริษัท KKU Miss Lily Holding จำกัด เปิดเผยว่า จากการทํางานร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้มุ่งเน้นในการพัฒนาเทคโนโลยีนาโนอิมัลชั่น โดยเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้เราได้มี Technical know how ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบในห้องปฏิบัติการจนสามารถนำไปสู่การผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมนั้น จะต้องใช้เครื่องจักรที่สามารถทำให้สารแตกตัวเป็นอนุภาคระดับนาโน โดยทั่วไปในต่างประเทศจะใช้เครื่อง High pressure nano homogenizer ซึ่งจะมีราคาแพงมาก เช่น ขนาด 300-500 ลิตร จะมีราคาหลักร้อยล้านบาท ทำให้อุตสาหกรรมทั่วไปมีข้อจำกัดในการลงทุนเครื่องจักรเหล่านี้ ทางทีมวิศวกรของ บริษัท ลิลลี่ ฟาร์มา ซึ่งเป็นบริษัทลูก ของ KKU Miss Lily Holding ได้พัฒนาเครื่องจักรในรูปแบบ High speed nano homogenizer และ เครื่องจักรพ่วง จนทำให้เราเป็นผู้นำในการผลิตเครื่องจักรนาโนอิมัลชั่นในกลุ่มอาเซียน เรามีนโยบายที่จะนำเครื่องจักรนี้ไปร่วมมือกับภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในรูปแบบนาโนอิมัลชั่น โดย บริษัท ลิลลี่ ฟาร์มา จะช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในรูปแบบนาโนอิมัลชั่น และนำไปสู่การผลิตในเชิงอุตสาหกรรมโดยการสนับสนุนของทางบริษัท และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้ประเทศไทยได้กลายเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีนี้ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจได้ สำหรับองค์กรที่สนใจสามารถติดต่อ บริษัท ลิลลี่ ฟาร์มา จำกัด คุณศิรินทร์ ใต้ชัยภูมิ โทร. 086-319-0270
ทางด้าน นาย ฐาปกรณ์ อุประ Chief of Technology officer บริษัท ลิลลี่ ฟาร์มา จำกัด กล่าวต่อว่า จุดเด่นของเครื่อง High speed nano homogenizer คือ เทคนิคการเฉือนอนุภาค (Shearing) ด้วยใบพัดปั่นที่มีความเร็วสูง และมีหัวปั่นพร้อมกัน 3 หัว (Vertical Multiple Rotor Stator Head) ซึ่งทำให้อนุภาคมีขนาดที่เล็กลงกว่า 100 นาโนเมตร และ มีความสม่ำเสมอของขนาด เนื่องจากมีหัวปั่นที่เรียงตัวอยู่ 3 ระดับในถัง นอกจากนี้ เครื่องจักรพ่วงอื่น ๆ เช่น Oil mixer และ Water mixer ยังมีถังน้ำควบคุมอุณหภูมิในระหว่างกระบวนการผลิต ซึ่งสามารถผลิตในระบบสุญญากาศได้ ทำให้เครื่องจักรดังกล่าว สามารถผลิตสารนาโนอิมัลชั่นให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ห้องวิจัยกำหนดไว้ นอกจากนี้ เทคโนโลยี High speed nano homogenizer ยังช่วยประหยัดเวลา และพลังงานในการผลิต รวมถึงประหยัดต้นทุนในการบำรุงรักษาน้อยลงกว่าระบบอื่น ๆ มาก