วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ สมาคม อบต.แห่งประเทศไทย ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ พัฒนาผู้นำและบุคลากรท้องถิ่น ทั้ง Reskill และ Upskill เตรียมยกระดับ อบต. รองรับการเปลี่ยนผ่านและการขับเคลื่อนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นทั่วประเทศ
รศ.ดร.พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มข. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย โดยจะร่วมมือกันในการดำเนินการออกแบบและจัดหลักสูตรพัฒนาบุคลากร ทั้งในรูปแบบที่เป็นหลักสูตรฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการระยะสั้น (Workshop Training Program) ที่มุ่งการเพิ่มพูนทักษะ (Up-Skills) การทบทวนทักษะ (Re-Skills) และการเสริมทักษะใหม่ (New-Skills) โดยวัตถุประสงค์ของความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อพัฒนาบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงไปของเทคโนโลยี และบริบทของสังคม และยังเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
ทั้งนี้ ผู้เข้าอบรมที่ผ่านเกณฑ์วัดและประเมินผลที่หลักสูตรกำหนด สามารถเก็บหน่วยกิตสะสมได้ในคลังหน่วยกิต (Credit Bank) เพื่อนำไปต่อยอดในหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-Degree) และ หลักสูตรปริญญา (Degree Program) ในระดับต่าง ๆ ซึ่งการจัดทำโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “หลักสูตรพัฒนาผู้นำองค์การบริหารส่วนตำบล” เจาะไปที่กลุ่มเป้าหมายเป็นฝ่ายบริหาร และฝ่ายสมาชิกสภาท้องถิ่น สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบล โดยเบื้องต้นตั้งเป้าจำนวนกว่า 5,000 คน ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
รศ.ดร.พีรสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น คาดหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในส่วนของการบริหารท้องถิ่น แต่ที่ผ่านมา ยังมองไม่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้ามากนัก เพราะอำนาจทั้งหมดยังคงอยู่กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคการเมือง ส่วนกลาง ยังไม่มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ยังมีการแสวงหาผลประโยชน์จากงบประมาณส่วนกลาง เป็นเหตุผลที่ทำให้ประเทศไทย เรายังไม่ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง
ขณะที่ ประเทศที่บรรลุเป้าหมายในการบริหารท้องถิ่น และพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เพราะฝ่ายบริหารของเขาไม่ให้ใครมาหาผลประโยชน์จากประเทศฝ่ายเดียว แต่ประเทศจะต้องได้รับประโยชน์ด้วย ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ และประเทศของเรา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ด้าน
บทบาทหน้าที่ของวิทยาลัยปกครองท้องถิ่น ในการร่วมมือครั้งนี้ คือ ให้ความรู้เสริมความแข็งแกร่งให้กับท้องถิ่น ศึกษาวิจัยเพื่อช่วยแก้ปัญหาท้องถิ่นช่วยยกระดับท้องถิ่นให้ดีขึ้น ทำให้ประชาชนมีความพึงพอใจกับการทำงานของ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มากขึ้น
ด้าน รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.วีระศักดิ์ ฮาดดา นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา การทำงานของ องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของ กระทรวงมหาดไทย มาตลอด ทำให้การทำงานไม่คล่องตัว หลายเรื่องไม่สามารถดำเนินการหรือตัดสินใจเองได้ ซึ่ง อบต. มีความต้องการที่จะให้หน่วยงานภาครัฐกระจายอำนาจการบริหารงาน รวมถึงการบริหารงบประมาณให้กับ อบต. ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการลดอำนาจส่วนกลาง และกระจายอำนาจมาสู่ท้องถิ่น
ทั้งนี้ จากการทำข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา หรือ มหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีความน่าเชื่อถือ อย่าง วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะทำให้ข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอของเรามีข้อมูลงานวิจัยทางวิชาการมาช่วยสนับสนุน ขณะที่ ในอดีตเรียกร้องอะไรไปก็ไม่มีคนฟัง เราจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานทางวิชาการเข้ามาช่วยสนับสนุนผ่านข้อมูลจากงานวิจัย หรือ ผลงานการศึกษา ซึ่งในการลดอำนาจส่วนกลาง และกระจายอำนาจสาธารณะมาสู่ท้องถิ่น คนที่ได้ประโยชน์ คือ ประชาชนคนรากหญ้า ถ้ารากหญ้าแข็งแรง ประเทศชาติก็แข็งแรงเช่นกัน
นายกสมาคม อบต.ฯ กล่าวถึงการทำงานของ อบต. ที่อยู่ภายใต้อำนาจส่วนกลางว่า ที่ผ่านมา อบต. แทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย แม้แต่การจัดหัวข้ออบรม ส่วนกลางยังเป็นคนออกแบบมาให้ ทั้งที่ไม่ตอบโจทย์ของท้องถิ่นเลย ดังนั้น ต้องให้อำนาจท้องถิ่น หรือ มีการหารือกับท้องถิ่นก่อน ว่าต้องการจะอบรมเรื่องอะไร เพราะหากไม่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น แม้จะอบรมไป ก็ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ จะเสียงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์ และการที่สมาคมฯ ร่วมมือกับ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มข. ครั้งนี้ หลักสูตรการอบรมแต่ละครั้งจะผ่านการหารือร่วมกันก่อนเสมอ ว่าท้องถิ่นต้องการอะไร และ ทางวิทยาลัยต้องการเสริมอะไร
ทางด้าน นายสุรพล เพชรวรา อุปนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นผู้มีความรู้ความสามารถที่มาร่วมกันช่วยแก้ปัญหาให้กับประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นฐานรากของประเทศไทย ให้มีความเข้มแข็ง การดำเนินงานความร่วมมือในครั้งนี้ ถือว่าเป็นจังหวะที่ดี เนื่องจากเป็นช่วงที่จะมีรัฐบาลใหม่ ที่มีความจริงจังในการที่จะกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น จะเป็นช่วงจังหวะเวลาที่ทำให้มีการขับเคลื่อนไปได้
ส่วนบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยนั้น ไม่ใช่แค่การอบรมทางวิชาการเท่านั้น แต่จะมีเรื่องของงานวิจัย ที่ช่วยสนับสนุน การทำงานขององค์กรส่วนท้องถิ่น ที่ต้องเข้าถึงประชาชน หรือ ชาวบ้านให้ได้มากที่สุด และการตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ช่วยทำให้มหาวิทยาลัยได้บรรลุเป้าหมายในการเข้าถึงชาวบ้านได้อีกทางหนึ่ง โดยดึงศักยภาพของท้องถิ่นและชาวบ้านออกมา เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนประเทศ และต้องปรับแนวคิดใหม่ ต้องทำอย่างไรที่จะทำให้คนที่มีอำนาจการบริหาร ได้ลงมาให้กำลังใจคนทำงาน สร้างขวัญและกำลังใจที่ดี ช่วยขับเคลื่อนการทำงานไปสู่ความสำเร็จได้
ขณะที่ ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ครั้งนี้ เหมือนเป็นโอกาสที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลใหม่ ที่มีแนวคิดลดอำนาจจากส่วนกลาง และกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การก่อตั้งสมาคมฯ บนพื้นฐานความพึงพอใจของประชาชน เพราะการทำงานของหน่วยงานท้องถิ่น ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า วันนี้อยากได้อะไรเขาก็ได้ อยากทำอะไรมีท้องถิ่นคอยช่วยเหลือ และเมื่อองค์กรท้องถิ่นได้จับมือกับมหาวิทยาลัย เหมือนมีหน่วยงานทางวิชาการที่ดี มาช่วยสนับสนุน การพัฒนาจะไปได้ไกลกว่าเดิม