ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มอบหมายให้ นายนิติ นาชิต ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ เข้าร่วมประชุมทั้งแบบ On-site และ Online ประชุมหารือกับ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เพื่อรับฟังแนวทางการพัฒนาหลักสูตรใหม่ให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคประกอบการอย่างแท้จริง และมีความยืดหยุ่นรองรับการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยมี ดร.อนันต์ วรธิติพงศ์ ประธาน อ.กรอ.อศ. กลุ่มอาชีพดิจิทัลคอนเทนต์ ผู้แทนสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ ผู้บริหารและครู สถานศึกษา CVMและ Excellent Center ด้านดิจิทัล 7 สาขาวิชา เข้าร่วมประชุม เมื่อเร็ว ๆ นี้
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้หารือการพัฒนาหลักสูตรอาชีวะด้านดิจิทัล กับ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เพื่อปรับหลักสูตรตรงกับความต้องการของภาคประกอบการกลุ่มอาชีพดิจิทัลอย่างแท้จริง และมีความยืดหยุ่นรองรับการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างรวดเร็ว สำหรับการประชุมภาคประกอบการด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล ให้ข้อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีสมรรถนะ ทั้งทางด้าน Hard Skill และ Soft Skill โดยอาจจัดกลุ่มตามสายงานในอาชีพ ประกอบด้วย สายงานด้านการพัฒนา (Developer) สายงานสนับสนุน (Supporter) และ สาขางานการค้า (Trader) ซึ่งต้องสร้างสมรรถนะที่เข้มแข็งตามกลุ่มสายงานด้วย อาทิ SQL Design , Networking , AI สถานศึกษาต้องจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ ที่สามารถลงมือปฏิบัติได้อย่างชำนาญ (Hand On) รวมทั้งต้องเติมเต็มทักษะด้านคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในการเติบโตสู่ระดับสากล
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อว่า ทักษะที่จำเป็น นอกจากความรู้ความสามารถแล้ว ต้องมี Mind Set ที่สามารถปรับตัวในการทำงานและการอยู่ร่วมกับคนต่างวัฒนธรรม มีรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมทั้งเสนอให้สถานศึกษามีการจัดเวทีประลองเกี่ยวกับอุตสาหกรรมดิจิทัล เป็น Sandbox เพื่อพัฒนาผู้เรียนไปสู่การเป็น Startup ในอนาคต พัฒนาให้กำลังคนอาชีวศึกษาพร้อมเป็น Future Workforce ที่มีความพร้อมในการนำเอาฐานความรู้ปัจจุบันไปสู่การประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมดิจิทัล มีการจัดทำสื่อการเรียนรู้แบบ Digital Content กลาง โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญในอาชีพเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อแก้ปัญหาการที่ครูปัจจุบันไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ ซึ่งอาจทำในลักษณะ Learning Package ในแต่ละเนื้อหาได้ นำไปสู่การแก้ปัญหาการเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ ๆ ของสถานศึกษาทั่วประเทศ และครูอาชีวศึกษาต้องมีศักยภาพในการจัดการเรียนรู้ในองค์ความรู้ใหม่ ๆ รวมทั้งต้องมีเครื่องมือ/อุปกรณ์ที่ทันสมัย โดยเฉพาะการมี Virtual Lab จะทำให้ผู้เรียนเข้าถึงโปรแกรมใหม่ ๆ ที่มีความทันสมัยได้ เนื่องจากเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมดิจิทัลเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว