มติ ก.ค.ศ. ครั้งที่ 7/2566 เห็นชอบอนุมัติเพิ่มอัตรากำลังครูในรร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยตั้งใหม่ 6 แห่ง รวม 462 ตำแหน่ง พร้อมเห็นชอบ (ร่าง) การพิจารณาโทษข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาล่วงละเมิดทางเพศนักเรียนหรือนักศึกษา เป็นความผิดร้ายแรงมาก ลงดาบไล่ออกจากราชการทันที

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 7/2566 วันอังคารที่ 27 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา โดยมี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ ดังนี้
.
1. อนุมัติกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ที่ตั้งใหม่ จำนวน 6 แห่ง รวมทั้งสิ้น 462 ตำแหน่ง 
ตามที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 มีมติเห็นชอบในหลักการพัฒนายกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตามที่ กระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เสนอ ได้ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ใหม่ขึ้น 6 แห่ง เพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางด้านการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในภูมิภาค ได้แก่ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กาฬสินธุ์, กำแพงเพชร, ลำปาง, สระแก้ว, สุพรรณบุรี และ อุบลราชธานี ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงได้ขอให้ ก.ค.ศ. อนุมัติกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้แก่โรงเรียนทั้ง 6 แห่ง โดย ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้การบริหารจัดการอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นไปตามกรอบอัตรากำลังที่คณะรัฐมนตรีกำหนด จึงมีมติเห็นควรอนุมัติกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูฯ รวมทั้งสิ้น 462 อัตรา ดังนี้
1) อนุมัติกรอบอัตรากำลังตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาในสถานศึกษาแต่ละแห่ง จำนวน 5 อัตรา รวมทั้งสิ้น 30 อัตรา ประกอบด้วย
– ผู้อำนวยการสถานศึกษา แห่งละ 1 อัตรา รวม 6 อัตรา
– รองผู้อำนวยการสถานศึกษา แห่งละ 4 อัตรา รวม 24 อัตรา
2) อนุมัติกรอบอัตรากำลังตำแหน่งครูในสถานศึกษาแต่ละแห่ง จำนวน 72 อัตรา รวมทั้งสิ้น 432 อัตรา
ทั้งนี้ เห็นควรให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานพิจารณาเกลี่ยอัตรากำลังจากสถานศึกษา หรือ หน่วยงานการศึกษาที่เกินเกณฑ์มากำหนด
.
2. อนุมัติกำหนดกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น
ตามมาตรา 38 ค. (2) ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย
ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยเพิ่มเติม จำนวน 6 แห่ง ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กาฬสินธุ์, กำแพงเพชร, ลำปาง, สระแก้ว, สุพรรณบุรี และ อุบลราชธานี นั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ขอให้ ก.ค.ศ. อนุมัติกำหนดกรอบอัตรากำลังตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) สำหรับโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยที่ตั้งใหม่ จำนวน 6 แห่ง แห่งละ 36 ตำแหน่ง รวมทั้งสิ้น 216 ตำแหน่ง เพื่อเป็นการสนับสนุนการจัดการศึกษาในสถานศึกษาให้มีคุณภาพ ตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสถานศึกษาดังกล่าว ก.ค.ศ. จึงได้อนุมัติกำหนดกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2) ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ที่ตั้งใหม่ จำนวน 6 แห่ง แห่งละ 36 ตำแหน่ง รวม 216 ตำแหน่ง ได้แก่
1. ตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไป    แห่งละ 1 ตำแหน่ง  รวม 6 ตำแหน่ง
2. ตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผน แห่งละ 1 ตำแหน่ง รวม 6 ตำแหน่ง
3. ตำแหน่งนักทรัพยากรบุคคล แห่งละ 1 ตำแหน่ง รวม 6 ตำแหน่ง
4. ตำแหน่งนักวิชาการศึกษา  แห่งละ 14 ตำแหน่ง  รวม 84 ตำแหน่ง
5. ตำแหน่งนักวิชาการเงินและบัญชี  แห่งละ 2 ตำแหน่ง รวม 12 ตำแหน่ง
6. ตำแหน่งนักวิชาการพัสดุ  แห่งละ 2 ตำแหน่ง    รวม 12 ตำแหน่ง
7. ตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์  แห่งละ 1 ตำแหน่ง    รวม 6 ตำแหน่ง
8. ตำแหน่งนักวิเทศสัมพันธ์ แห่งละ 1 ตำแหน่ง    รวม 6 ตำแหน่ง
9. ตำแหน่งนักวิชาการส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  แห่งละ 7 ตำแหน่ง รวม 42 ตำแหน่ง
10. ตำแหน่งนักเทคโนโลยีสารสนเทศ แห่งละ 1 ตำแหน่ง  รวม 6 ตำแหน่ง
11. ตำแหน่งนักโภชนาการ  แห่งละ 1 ตำแหน่ง  รวม 6 ตำแหน่ง
12. ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ  แห่งละ 1 ตำแหน่ง  รวม 6 ตำแหน่ง
13. ตำแหน่งนักจิตวิทยา แห่งละ 1 ตำแหน่ง  รวม 6 ตำแหน่ง
14. ตำแหน่งนักแนะแนวการศึกษาและอาชีพ  แห่งละ 1 ตำแหน่ง  รวม 6 ตำแหน่ง
15. ตำแหน่งนายช่างเทคนิค แห่งละ 1 ตำแหน่ง  รวม 6 ตำแหน่ง
.
โดยในระยะแรก เห็นควรกำหนดระดับตำแหน่งเป็น 2 ระดับทุกตำแหน่ง คือ ตำแหน่งระดับปฏิบัติการ/ชำนาญการ สำหรับตำแหน่งประเภทวิชาการ และระดับปฏิบัติงาน/ชำนาญงาน สำหรับตำแหน่งประเภททั่วไป เนื่องจากจะทำให้สามารถใช้ทุกตำแหน่งในการสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งได้ และเมื่อภาระงาน ปริมาณงาน และคุณภาพของงานของตำแหน่งมีการเปลี่ยนแปลงไปในระดับที่สูงขึ้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาจพิจารณาเสนอขออนุมัติ ก.ค.ศ. เพื่อพิจารณาปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งต่อไปได้ เงื่อนไขการกำหนดตำแหน่งดังกล่าว ต้องอยู่ภายใต้งบประมาณที่ได้รับ และไม่ทำให้งบประมาณรายจ่ายด้านบุคคลเพิ่มสูงขึ้น สำหรับการตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนมากำหนดในกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2) ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยที่ตั้งใหม่ ตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด ต้องไม่มีผลกระทบต่องบประมาณของรัฐ และไม่ขัดหรือแย้งกับมติคณะรัฐมนตรี และมาตรการบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐ และเสนอ ก.ค.ศ. เพื่อพิจารณาต่อไป
.
3. เห็นชอบ (ร่าง) แนวปฏิบัติในการดำเนินการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาไปดำรงตำแหน่งเดิมในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สืบเนื่องจาก พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 31 กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เสนอแนะต่อ ก.ค.ศ. เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับการบริหารสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรม โดยคณะกรรมการนโยบายฯ ได้เสนอแนะให้ ก.ค.ศ. นำหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาฯ (ว 7/2564) กรณีที่ 2 การย้ายเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ประเภทที่ 1 การย้ายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา กลุ่ม 1 การย้ายผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษาทั่วไป มาใช้ในการพิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาไปดำรงตำแหน่งในสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรม โดยขอให้คณะกรรมการพื้นที่นวัตกรรมในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม และขอให้ ก.ค.ศ. กำหนดแนวปฏิบัติในการดำเนินการ โดย ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่า พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาเป็นพื้นที่ปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษาเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา ในการที่จะคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน และลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา รวมทั้งมีการขยายผลไปใช้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น ดังนั้น เพื่อให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานนำร่องที่อยู่ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามีผู้บริหารเป็นผู้นำการศึกษาที่มีศักยภาพ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ สมรรถนะ ศักยภาพ และประสบการณ์เหมาะสมกับการปฏิบัติงานในพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา อันนำมาซึ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการพัฒนาคุณภาพและยกผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของผู้เรียนที่ดียิ่งขึ้น จึงเห็นชอบให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นสถานศึกษาที่ต้องมีการพัฒนาคุณภาพเป็นพิเศษ และเห็นชอบ (ร่าง) กำหนดแนวปฏิบัติในการดำเนินการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาไปดำรงตำแหน่งเดิมในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยร่างแนวปฏิบัติดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
.
1. ในแนวปฏิบัตินี้ “การย้าย” หมายความว่า การย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไปดำรงตำแหน่งเดิม ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2. การย้ายผู้บริหารสถานศึกษาไปดำรงตำแหน่งเดิมในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ฯ ว 7/2565 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรณีที่ 2 การย้ายกรณีเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ประเภทที่ 1 การย้ายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา กลุ่ม 1 การย้ายผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษาทั่วไป โดยมีแนวปฏิบัติฯ ดังนี้
2.1 ให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา ที่มีสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สังกัดอยู่ พิจารณาเห็นชอบให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ต้องมีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเป็นพิเศษ
2.2 ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประกาศรายชื่อสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่มีตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาว่างอยู่ หรือ มีตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาที่คาดว่าจะว่าง พร้อมทั้งคุณสมบัติของผู้บริหารสถานศึกษาที่จะได้รับการพิจารณาเสนอรายชื่อ โดยความเห็นชอบของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า  15 วัน
2.3 ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสังกัดอยู่ และคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในพื้นที่นั้น เสนอชื่อผู้บริหารสถานศึกษาที่มีคุณสมบัติ และให้สอบถามความสมัครใจของผู้ที่ประสงค์จะให้ย้ายด้วย
2.4 ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสังกัดอยู่ ตั้งคณะทำงาน โดยให้มีผู้แทนคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในพื้นที่นั้น จำนวน 3 คน ร่วมพิจารณารายชื่อผู้บริหารสถานศึกษาที่ประสงค์จะให้ย้าย
2.5 ให้คณะกรรมการกลั่นกรองการย้าย พิจารณากลั่นกรองการย้าย ทั้งนี้ หากมีผู้ที่ยื่นคำร้องขอย้ายประจำปี ได้ระบุสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไว้ ให้นำมาพิจารณาร่วมด้วย
2.6 ให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา พิจารณาย้าย
.
4. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์การย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
สืบเนื่องจากที่ ก.ค.ศ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ว 18/2565) เพื่อใช้สำหรับการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ดังกล่าว กำหนดให้มีการพิจารณาย้ายกรณีปกติ 2 รอบ คือ รอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน และรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 กันยายน – 31 ตุลาคม เพื่อให้สถานศึกษามีข้าราชการครูก่อนเปิดภาคเรียน ซึ่งจากการดำเนินการพิจารณาย้ายกรณีปกติ รอบที่ 1 ที่ผ่านมา พบว่า สถานศึกษาบางแห่งมีครูย้ายออก แต่ไม่มีครูย้ายเข้ามาทดแทน การบรรจุและแต่งตั้งทดแทนไม่สามารถทำได้ทันที เนื่องจากปฏิทินการสอบแข่งขัน/คัดเลือก กำหนดไว้หลังปฏิทินการย้าย นอกจากนี้ ครูที่ต้องการยื่นคำขอย้ายต้องทิ้งห้องเรียน เพื่อมายื่นเอกสารหลักฐานจำนวนมากที่สำนักงานเขตพื้นที่ รวมถึงองค์ประกอบในการพิจารณาการย้าย มุ่งพิจารณาครูที่มีผลงานดีออกจากสถานศึกษา และการพิจารณาย้ายของแต่ละ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา มีความแตกต่างกัน จากประเด็นปัญหาดังกล่าว ก.ค.ศ. จึงได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้การย้ายข้าราชการครูฯ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรมและตรวจสอบได้ จึงเห็นควรให้ส่วนราชการดำเนินการ ดังนี้
.
1. ให้ส่วนราชการกำหนดปฏิทินการบริหารงานบุคคลในภาพรวมประจำปีงบประมาณ โดยการย้ายจะกำหนดให้ยื่นคำร้องขอย้าย 2 รอบ รอบที่ 1 ยื่นเดือนมกราคม พิจารณาย้ายได้มากกว่าหนึ่งครั้ง แต่ให้ออกคำสั่งมีผลพร้อมกัน คือ วันที่ 1 พ.ค. และในวันเปิดภาคเรียนที่ 1 คือ 16 พ.ค. สถานศึกษาต้องมีครู สำหรับรอบที่ 2 ยื่นเดือนกรกฎาคม พิจารณาย้ายได้มากกว่าหนึ่งครั้ง แต่ให้ออกคำสั่งมีผลพร้อมกัน คือ วันที่ 15 ต.ค. และ ในวันเปิดภาคเรียนที่ 2 คือ 1 พ.ย. สถานศึกษาต้องมีครู
2. ให้ส่วนราชการจัดทำระบบการย้ายทางอิเล็กทรอนิกส์
3. กำหนดองค์ประกอบการย้าย โดยมุ่งพิจารณาจากเหตุผลความจำเป็นในการย้าย และสภาพความเป็นอยู่ของครูก่อนเป็นสำคัญ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับครูที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล
4. กำหนดวิธีการพิจารณาย้าย โดยให้พิจารณาจากผู้ที่มีสาขาวิชาเอกตรงก่อน แล้วจึงพิจารณาผู้ที่มีสาขาวิชาเอกไม่ตรง แต่มีประสบการณ์การสอนลำดับถัดไป
5. การย้ายกรณีพิเศษ และการย้ายเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ให้ดำเนินการตาม ว 18/2565 ตามเดิม
6. การย้ายรอบที่ 2 ในปี 2566 ซึ่งเริ่มในเดือน ก.ค. ให้ดำเนินการตาม ว 18/2565 ต่อไป จนแล้วเสร็จ
.
5. เห็นชอบ การใช้งานระบบบริหารการประชุม (e-Meeting) พร้อมฟังก์ชันรองรับระบบเลขานุการ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้นำเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนภารกิจของหน่วยงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
ในการปฏิบัติงาน สำนักงาน ก.ค.ศ. จึงเล็งเห็นความสำคัญในการปรับเปลี่ยนกระบวนงานด้านการบริหารจัดการการประชุมให้มีความทันสมัย เข้าสู่การประชุมแบบไร้กระดาษ (Paperless Meeting) ด้วยระบบบริหารการประชุม (e-Meeting) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ผู้เข้าร่วมการประชุมสามารถประชุมผ่านอุปกรณ์ทุกขนาดหน้าจอ เพื่อเรียกดูรายละเอียดการประชุม วาระการประชุม เอกสารประกอบการประชุม สืบค้นข้อมูลการประชุมต่าง ๆ จดบันทึกส่วนตัว พิจารณารับรองรายงานการประชุมได้ผ่านระบบ พร้อมฟังชันรองรับระบบเลขานุการ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา เรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นการกำกับ ติดตาม และประเมินผลการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามอำนาจหน้าที่ของ ก.ค.ศ. ตามมาตรา 19 (13) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
.
ทั้งนี้ ได้กำหนดปฏิทินการอบรมและชี้แจงการใช้ระบบฯ ให้เลขานุการ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่จำนวน 245 เขต ดังนี้
– เดือนสิงหาคม 2566 อบรม ชี้แจง และทดลองการใช้ระบบ กับ กลุ่มนำร่อง ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกและภาคตะวันออก
– เดือนกันยายน 2566 อบรม ชี้แจง และทดลองการใช้ระบบกับกลุ่มนำร่อง ภาคเหนือ และภาคใต้
– 1 ตุลาคม 2566  เริ่มต้นการใช้งานระบบบริหารการประชุม (e-Meeting) พร้อมฟังก์ชันรองรับระบบเลขานุการ อ.ก.ค.ศ.
เขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 245 เขตพื้นที่การศึกษา
.
ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการประชุมของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา มีประสิทธิภาพ มีการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบ สามารถเก็บรักษาและสืบค้นข้อมูลได้รวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้ ก.ค.ศ. จึงเห็นชอบกำหนดการใช้งานระบบบริหารการประชุม (e-Meeting) พร้อมฟังก์ชันรองรับระบบเลขานุการ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา ดังนี้
1. นำระบบบริหารการประชุม (e-Meeting พร้อมฟังก์ชันรองรับระบบเลขานุการ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประเมินผลการบริหารงานบุคลลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
2. ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดให้มีการใช้ระบบบริหารการประชุม (e-Meeting) พร้อมฟังก์ชันรองรับระบบเลขานุการ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาเป็นตัวชี้วัดการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
.
6. เห็นชอบ (ร่าง) แนวการพิจารณาโทษข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากระทำผิดวินัย กรณีกระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เรียนหรือนักศึกษา ไม่ว่าจะอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของตนหรือไม่
จากการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการครูที่ผ่านมา ต้องนำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนมาบังคับใช้โดยอนุโลม  แต่กฎหมายดังกล่าว ไม่มีบทบัญญัติกรณีข้าราชการครูล่วงละเมิดทางเพศผู้เรียนหรือนักศึกษากำหนดไว้ ดังนั้น ในกรณีที่ข้าราชการครูกระทำการล่วงละเมิดทางเพศผู้เรียนหรือนักศึกษา จึงปรับบทความผิดฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว หรือ เป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง แล้วแต่กรณี ต่อมา ก.ค. ได้กำหนดแนวการพิจารณาโทษข้าราชการครูกระทำผิดวินัย 6 กรณี ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค. ที่ ศธ 1306/ว 5 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2543 แจ้งไปยังส่วนราชการต่าง ๆ ซึ่งแนวปฏิบัติดังกล่าวมีส่วนที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติตาม พ.ร.บ. ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 เนื่องจาก พ.ร.บ. ดังกล่าว กำหนดกรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากระทำการล่วงละเมิดต่อผู้เรียนและนักศึกษา ไม่ว่าจะอยู่ในความรับผิดชอบของตนหรือไม่ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 94 วรรค 3 ก.ค.ศ. จึงพิจารณากำหนดแนวการพิจารณาโทษข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากระทำผิดวินัย กรณีกระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เรียนหรือนักศึกษาไม่ว่าจะอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของตนหรือไม่ โดยพฤติกรรมที่มีระดับความผิดที่ร้ายแรงมาก สมควรลงโทษไล่ออกจากราชการ ดังนี้
1. ใช้อำนาจในหน้าที่บังคับ หรือ ทำให้ผู้เรียนหรือนักศึกษาต้องจำยอมให้ร่วมประเวณี เช่น ให้นักศึกษาที่ติด ร แก้ ร โดยยอมให้ร่วมประเวณี
2. หลอกลวงพาผู้เรียนหรือนักศึกษาไปเพื่อกระทำชำเรา หรือ ร่วมประเวณี
3. ร่วมประเวณี หรือ พยายามร่วมประเวณีกับผู้เรียนหรือนักศึกษา หรือให้ผู้เรียนหรือนักศึกษาบำบัดความใคร่ ไม่ว่าผู้เรียนหรือนักศึกษาจะสมัครใจหรือไม่
4. กระทำการอนาจารผู้เรียนหรือนักศึกษาคนเดียว หรือหลายคน เป็นประจำ
5. กระทำการถ่ายภาพ หรือ คลิปผู้เรียนหรือนักศึกษาที่ไม่สมควรทางเพศ หรือให้ผู้เรียนหรือนักศึกษาเปลือย หรือเปิดเผยร่างกายที่ไม่สมควร หรือกระทำการอื่นใดในลักษณะคล้ายคลึงกัน
ส่วนพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศผู้เรียนหรือนักศึกษา นอกจากกรณีตามข้อ 1-5 เป็นพฤติกรรมที่มีระดับความผิดที่ร้ายแรงมาก หรือร้ายแรง แล้วแต่กรณี ระดับโทษไล่ออก หรือปลดออก แล้วแต่กรณี 

RANDOM

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!