นักวิจัยคณะเทคโนโลยี มมส หัวใส ผลิตไซรัปจากมันแกว ‘จิคามา วีแกน ไซรัป’ แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) เปิดตัว ผลิตภัณฑ์ ‘จิคามา วีแกน ไซรัป’ ไซรัปจากมันแกวบรบือ ของดีจังหวัดมหาสารคาม ผลไม้หรืออาหารราคาถูก เป็น Plant base Honey ผลักดันให้เป็นสินค้าประจำจังหวัดที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันแกวของจังหวัดมหาสารคาม

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย “ไซรัปจากมันแกว” ซึ่งถือเป็นการนำมันแกวมาแปรรูปเป็นไซรัปเป็นครั้งแรกของโลก ค้นพบและพัฒนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิริพร ลาวัลย์ ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมด้วย ผู้ร่วมวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุษกร ทองใบ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณี สมัปปิโต และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศรีนวล จันทไทย โดยมีหน่วยงานที่ให้ทุนพัฒนานวัตกรรมหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มณีรัตน์ วงษ์ซิ้ม หัวหน้าหน่วย ฯ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิริพร ลาวัลย์ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ให้ความหวานชนิดใหม่ จิคามา วีแกน ไซรัป ผลิตจากมันแกว ลักษณะคล้ายน้ำผึ้ง รสชาติหอมหวาน เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ไม่มีสารปรุงแต่ง เป็นผลิตภัณฑ์วีแกน เหมาะกับทุกเพศวัย ผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้ หรือ น้ำผึ้ง ตลอดจน ผู้ป่วยกลุ่มที่มีภาวะ Fructose Intolerance (ภาวะขาดความทนต่อฟรุกโทส) และ Irritable Bowel Syndrome (ภาวะลำไส้แปรปรวน : IBS) สามารถรับประทานได้ จิคามา วีแกน ไซรัป ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล จึงใช้ในปริมาณที่น้อยกว่า

สำหรับจุดเริ่มต้นของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ มาจากที่อาจารย์มีความสนใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากมันแกว หรือที่ ภาษาสเปน เรียกว่า จิคามา (jicama) เหตุผลหลัก คือ มันแกวบรบือ ถือเป็นผลไม้ประจำจังหวัดมหาสารคาม ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา การนำมันแกวมาแปรรูปเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากมันแกวผลสด ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงได้คิดค้นวิธีการใช้ประโยชน์จากมันแกว โดยใช้น้ำตาลที่มีในน้ำมันแกว ทำการระเหยน้ำด้วยตู้อบลมร้อนที่อุณหภูมิต่ำ จนได้ปริมาณความเข้มข้นที่เหมาะสม โดยไม่มีการเติมแต่งสารใด ๆ

จิคามา วีแกน ไซรัป มีค่าความหวานมากกว่า 70 องศาบริกซ์ มีส่วนประกอบของน้ำตาลฟรุคโตสต่อกลูโคส ในปริมาณต่ำกว่า 1 ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มที่มีภาวะ Fructose Intolerance (ภาวะขาดความทนต่อฟรุกโทส) และ Irritable Bowel Syndrome (ภาวะลำไส้แปรปรวน : IBS) สามารถรับประทานได้

ผลิตภัณฑ์ จิคามา วีแกน ไซรัป เป็นผลิตภัณฑ์ที่เสร็จสมบูรณ์ พร้อมจำหน่ายให้กับผู้สนใจ และยังพร้อมที่จะร่วมทุนการผลิต ตลอดจนเผยแพร่เทคโนโลยีการแปรรูป และผลักดันเป็นสินค้าประจำจังหวัดมหาสารคาม ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิริพร ลาวัลย์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โทร. 091-564-9159 หรือที่ 089-279-4564

RANDOM

ประกวดภาพถ่ายสวนในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ หัวข้อ “สวนสวยลอยฟ้า” ชิงรางวัลรวมกว่า 106,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล เปิดรับสมัครและส่งผลงาน วันที่ 4-29 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!