วิศวะ จุฬาฯ โชว์กึ๋น คิดค้นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่หลากหลาย จาก “ไหมไทย”

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คิดค้นนวัตกรรมทางการแพทย์ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมกับโปรตีนไหมไทย จนเกิดเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อและระบบนำส่งยา ของการรักษาโรคมะเร็ง โรคข้อเสื่อม การผลิตหลอดเลือดเทียม เส้นประสาทเทียม ท่อน้ำตาเทียม การพิมพ์เนื้อเยื่อสามมิติ การทาเปลือกตาเทียม ทาแผ่นปิดแผลนำส่งยา การทาผิวหนังเทียม และกระดูกเทียม

นวัตกรรมทางการแพทย์จากไหมไทยนี้ ศ.ดร.ศิริพร ดำรงค์ศักดิ์กุล และ รศ. ดร.โศรดา กนกพานนท์ จาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการวิจัยเนื่องจากเห็นว่า ไหมไทยเป็นวัตถุดิบทางการเกษตรที่สำคัญ และมีคุณสมบัติที่ดีเหมาะสำหรับนำมาใช้ทางการแพทย์ จึงได้ดำเนินงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง จนประสบความสำเร็จ สามารถนำมาใช้เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ในการรักษาโรคมะเร็งและโรคอื่น ๆ ได้

ปัจจุบันคณะผู้วิจัยสามารถพัฒนาระบบนำส่งยาและสารสำคัญ รวมถึงวิศวกรรมเนื้อเยื่อจากชีววัสดุไฟโบรอินที่สกัดจากรังไหมไทยในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งไฮโดรเจล โครงสามมิติ แผ่นแปะ อนุภาคขนาดไมครอน เส้นใยขนาดนาโน เป็นต้น เพื่อประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ โดยเฉพาะระบบนำส่งยา หรือ สารออกฤทธิ์เพื่อรักษาโรคต่าง ๆ อาทิ โรคมะเร็ง ข้อเสื่อม เบาหวาน และ วิศวกรรมเนื้อเยื่อต่าง ๆ อาทิ ผิวหนัง กระดูก หลอดเลือด เป็นต้น ซึ่งจากผลการศึกษาวิจัยด้านความปลอดภัย ทำให้ผู้วิจัยมั่นใจว่า จะสามารถนำเทคโนโลยีไฟโบรอินไหมมาประยุกต์ใช้งานได้จริงในทางการแพทย์ เนื่องจากไฟโบรอินไหม มีคุณสมบัติเด่นในด้านความเข้ากันได้ทางชีวภาพ (Biocompatibility) มีปฏิกิริยาต่อต้านจากภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ (low-immunogenicity) สามารถย่อยสลายได้ในร่างกาย (Biodegradability) และสามารถปรับเปลี่ยนอัตราการย่อยสลาย และการปลดปล่อยยาที่บรรจุได้

นอกจากนั้น “ไหมไทย” ยังสามารถนำมาผลิตเป็นครีมไฮโดรเจลจากสารสกัดไหมไทยผสมยาปฏิชีวนะ ใช้สำหรับทาแผลทั่วไป และแผลกดทับ เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นในแผล ช่วยให้แผลหายเร็ว และกำจัดเชื้อแบคทีเรีย โดยไฮโดรเจลจากสารสกัดไหมไทย จะช่วยปลดปล่อยยาออกมาในปริมาณที่เหมาะสม และลดความถี่ของการใช้ยาปฏิชีวนะได้ รวมถึงการพัฒนาไฮโดรเจลแบบฉีดได้ โดยเตรียมสารสกัดไหมไทยผสมยาสเตียรอยด์ที่เป็นยาทั่วไปที่ใช้ในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม จะช่วยลดความเจ็บปวด และอาการบวมจากการเสียดสีกันของข้อเข่าที่เสื่อม และต้านการอักเสบ ไฮโดรเจลจากสารสกัดไหมไทย สามารถช่วยปกป้องตัวยาไม่ให้เสื่อมสภาพ และช่วยชะลอการปลดปล่อยของตัวยาให้ออกมาในปริมาณที่เหมาะสม ส่งเสริมให้ตัวยายังคงมีประสิทธิภาพในการรักษานานขึ้น และลดความถี่ของการฉีดยาสเตียรอยด์ได้ นอกจากนี้ ไหมไทย ยังสามารถต่อยอดผลิตเป็นแผ่นแปะช่วยผ่อนคลาย แผ่นไฮโดรเจลนวัตกรรมใหม่ที่มีไฟโบรอินจากไหมไทย มีประสิทธิภาพในการช่วยชะลอการปลดปล่อย cannabidiol (CBD) อย่างช้า ๆ ซึ่งจะช่วยผ่อนคลาย ลดความเครียด ช่วยให้นอนหลับง่าย และช่วยให้การนอนหลับลึกขึ้น โดยมีผลการทดสอบทางวิทยาศาสตร์รองรับ รวมถึงผ่านการทดสอบทางผิวหนัง และการผลิตอยู่ภายใต้มาตรฐาน GMP

จากความสำเร็จดังกล่าว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทาง วิชาการ (MOU) กับ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีวิศวกรรม กับ โปรตีนไหมไทย เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อ และระบบนำส่งยา ซึ่งความร่วมมือของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กรมหม่อนไหม เป็นโครงการที่ได้ร่วมมือกันมา 17 ปีแล้ว และที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับความร่วมมือจาก ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ โคราช ที่ สนับสนุนด้านองค์ความรู้มาโดยตลอด ทำให้สามารถผลิตผลงานวิจัยเรื่องการประยุกต์ใช้ไหมไทยในงานทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถือเป็นความภูมิใจและความสำเร็จที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ทำการวิจัยค้นคว้า เป็นผลสัมฤทธิ์ที่เป็นที่ประจักษ์ สามารถนำงานวิจัยมาพัฒนา เพื่อสร้างศักยภาพให้กับเกษตรกร ได้มีความรู้ ความสามารถ และยกระดับมาตรฐานในอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงหม่อนไหมได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นการสร้างนวัตกรรมให้กับการแพทย์ ให้มีศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากล สร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยงานวิจัยที่เป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ

ความร่วมมือในโครงการ “ไหมไทย” จากอุตสาหกรรมสิ่งทอสู่นวัตกรรมเพื่อการแพทย์นี้ ดำเนินการ โดย บริษัท เอนจินไลฟ์ จำกัด (EngineLife) ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้การบ่มเพาะของ CU Engineering Enterprise ของ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจาก CU Innovation Hub ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

RANDOM

BEM ผู้ให้บริการทางพิเศษและรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง จัดประกวดวาดภาพสีน้ำ ‘BEM Art Contest’ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 ในคอนเซปต์ “20 ปี Anniversary MRT สายสีน้ำเงิน“ ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 100,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!