นักศึกษาทีม Spark Energy สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประกอบด้วย นางสาวพิชญาภา บุญสุข นายนิธิศ ธำรงค์เทพพิทักษ์ และ นางสาวศิริขวัญ ดำคุ้ม สาขาปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ นางสาวนงนภัส ดาวสุวรรณ และ นายนราธิป ไชยรัตน์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า เจ้าของนวัตกรรม GreenSupercap : ถ่านคาร์บอนจากเศษเหลือขี้เลื่อยไม้ยางพารา ที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงพื้นผิวให้มีรูพรุนสำหรับกักเก็บประจุไฟฟ้าที่สูงสำหรับอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน ฝ่าด่านตัวแทน 14 ทีมสุดท้ายจาก 49 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ คว้ารางวัลชนะเลิศ The Championship of Startup Thailand League 2023 ได้เป็นครั้งแรก รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัล โดยมี ผศ.ดร.อุเทน ทับทรวง และ ผศ.ดร.กมล ถิ่นสุราษฎร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งรางวัลดังกล่าวส่งผลให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับรางวัล University of the year รางวัลมหาวิทยาลัยที่มีผลงานยอดเยี่ยมในการสร้างและส่งเสริมนักศึกษาเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมด้วย
นางสาวพิชญาภา บุญสุข ตัวแทนทีม Spark Energy เปิดเผยว่า นวัตกรรมถ่านคาร์บอนจากขี้เลื่อยไม้ยางพารา เป็นการนำขี้เลื่อยไม้ยางพารา มาเข้ากระบวนการกระตุ้นด้วยกรดและเบสแบบสองขั้นตอนต่อเนื่อง เพื่อสร้างรูพรุนในเนื้อไม้ และเมื่อนำไปเผาจะได้เป็นถ่านคาร์บอนที่มีความเป็นรูพรุนและพื้นที่ผิวในการกักเก็บประจุไฟฟ้าที่สูง ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมไม้แปรรูปในประเทศ และถ่านคาร์บอนที่ได้สามารถนำไปทำเป็นอิเล็กโทรดของ Supercapacitor ซึ่งเป็นอุปกรณ์กักเก็บพลังงานที่กำลังได้รับความสนใจในปัจจุบัน
“การเข้าร่วมประกวดทำให้ทีมของเรา ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้ความรู้ในการทำการตลาด การต่อยอดธุรกิจ การมีพาร์ทเนอร์ในสายงาน สามารถนำทักษะความรู้จากการเรียนที่ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน ทำให้ผลงานชิ้นนี้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งทุกคนในทีมรู้สึกภาคภูมิใจมากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ถือเป็นรางวัลใหญ่ที่สร้างชื่อเสียงให้กับสถาบันของเรา เป็นผลมาจากความพยายาม มุ่งมั่นทุ่มเทตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา และอยากให้รางวัลนี้เป็นเเรงบันดาลใจให้กับทุกคน ในการสร้างสรรค์ผลงานเช่นกัน ขอขอบคุณอาจารย์ที่ปรึกษาทุกคน ขอบคุณอุทยานวิทยาศาสตร์ ทีม Mentor และ ขอขอบคุณเวที Startup Thailand League 2023 ด้วย” นางสาวพิชญาภา กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.อนุรักษ์ ถุงทอง รักษาการแทน ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.วลัยลักษณ์ กล่าวถึงการสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพนักศึกษาในการเป็นผู้ประกอบการ ว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาความเป็นผู้ประกอบการนักศึกษา (Walailak Entrepreneurship Development Academy หรือ WEDA) ขึ้น เพื่อเป็นกลไกพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการให้แก่นักศึกษา ที่มีความฝันอยากเป็นผู้ประกอบการ มีการจัดค่าย Boot Camp เพื่อฝึกทักษะแนวคิด ทั้ง Tool Set และ Mind Set ให้แก่นักศึกษา และคัดเลือกไอเดียดี ๆ ส่งเข้าประกวดเวที Startup Thailand และ เวทีอื่น ๆ ปัจจุบันมีอาจารย์และนักศึกษาสนใจเข้าร่วม WEDA CLUB เฉลี่ยปีละกว่า 1,000 คน มีไอเดียธุรกิจใหม่ ๆ ที่เข้าเสนอจำนวนมาก
ซึ่งนอกจากนักศึกษาจะได้แนวคิดในการทำธุรกิจแล้ว ยังได้ประสบการณ์จากเวทีประกวด ได้พันธมิตรในการทำธุรกิจ และคำแนะนำจากคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจในอนาคต และยังได้มุมมองในการประกอบอาชีพที่ไม่จำกัดเพียงแค่รับราชการ หรือ สายอาชีพที่เรียนจบไปเท่านั้น
“ผมขอแสดงความยินดี กับ ทีม Spark Energy ที่สร้างประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรก ในรอบ 6 ปี ให้กับ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอขอบคุณนักศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษา รวมทั้งพี่เลี้ยงจาก WEDA CLUB ทุกคน โดย สิ่งที่เราคาดหวังมากกว่ารางวัล คือ อยากเห็นนักศึกษาสามารถนำไอเดียธุรกิจจากงานวิจัยไปสู่การทำธุรกิจ และแนวคิดเหล่านี้จะถูกพัฒนาจนสามารถใช้ได้จริงต่อไป” ผศ.ดร.อนุรักษ์ กล่าว