สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมเป็นพลังสร้างสรรค์ ‘ความปลอดภัยสาธารณะ’ (Public Safety) ในสังคม เปิดโครงการขับขี่ปลอดภัย ด้วยสโลแกน “ 3 ไม่” คือ 1. ไม่ขับตัดเลน 2. ไม่ขับขี่ด้วยความเร็วสูง ไม่แซง ไม่ปาด 3. ไม่ขับขี่ หรือ ซ้อนรถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกกันน็อก ทั้งนี้ เพื่อสร้างเสริมวินัยจราจรและความปลอดภัยให้กับนักศึกษา บุคลากร และประชาชน พร้อมทั้งกำหนดแผนระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาว เตรียมนำเทคโนโลยีติดตั้งระบบเซนเซอร์ส่งเสียงเตือนรถที่ขับตัดเลน ปาด หรือ แซง
.
.
รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า สจล. ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเสริมสังคมไทยที่มี ‘ความปลอดภัยสาธารณะ’ ทั้งนี้ ลักษณะทางกายภาพของ สจล. เป็นพื้นที่เปิด มีถนนตัดผ่านกลางสถาบัน ทำให้มีระบบขนส่งสาธารณะหลายแบบที่ผ่านเข้ามาในพื้นที่ของ สจล. ไม่ว่าจะเป็น รถไฟ รถเมล์ รถสองแถว รถตู้สาธารณะ วินมอเตอร์ไซด์ รวมทั้ง รถส่วนบุคคล รถรับส่งพนักงานในนิคมอุตสาหกรรม ทำให้เกิดปัญหารถติด และอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จึงทำให้ สจล. ได้กำหนดรูปแบบที่มีชื่อว่า “3 ไม่” เป็นโมเดลแห่งการขับขี่ปลอดภัย สร้างวินัยจราจร พร้อมทั้งปลูกจิตสำนึกในการใช้ถนนร่วมกัน ประกอบด้วย 1. ไม่ขับตัดเลน เพราะลักษณะของถนนมีทางแยกจำนวนมาก ทั้งทางแยกเข้าโรงเรียน ทางแยกเข้าวัด ทางแยกเข้าชุมชน รวมทั้ง ประตูเข้า-ออก ของ สจล. ที่มีหลายประตู จึงทำให้ผู้ใช้รถมีการขับรถตัดเลน และทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง 2. ไม่ขับขี่ด้วยความเร็วสูง ไม่แซง ไม่ปาด ด้วยปัญหารถติด มีทางแยกเยอะ ประตูเข้าออกเยอะ รวมทั้งมีนักศึกษาจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่ ถ้าผู้ขับขี่รถขับขี่ด้วยความเร็วสูงก็จะทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ 3. ไม่ขับขี่รถจักรยานยนต์ หรือ ซ้อนท้ายโดยไม่สวมหมวกกันน็อก ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกัน ลดการบาดเจ็บ และการสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุให้กับผู้ขับขี่รถจักยานยนต์ โดยเฉพาะในพื้นที่ของ สจล. ได้มีการเข้มงวดกวดขันอย่างจริงจัง
.
.
ด้าน ผศ.สมเกียรติ ขวัญพฤกษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกายภาพ จราจร และความปลอดภัย สจล. กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการวางรากฐาน และปรับปรุงเรื่องการจราจรนั้น ทาง สจล. ได้จัดทำแผนเรื่องการจราจรและความปลอดภัยไว้ 3 แผน คือ 1. แผนระยะสั้น เร่งประชาสัมพันธ์ ปลูกจิตสำนึกในความปลอดภัย สร้างความเข้าใจ และกวดขันด้านวินัยจราจรกับผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์เข้ามาในพื้นที่ 2.แผนระยะกลาง จะทาสีให้ชัดเจน ตีเส้นถนนภายใน ติดสัญญาณไฟจราจร เปิดให้มีการอบรมวินัยจราจร รวมทั้งนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ให้มากขึ้น เช่น ติดตั้งเซ็นเซอร์บริเวณทางแยกต่างๆ เมื่อมีคนขับรถตัดเลน ปาด แซง จะมีเสียงสัญญาณเตือนดังขึ้น 3.ระยะยาว จะมีการปรับเส้นทางการจราจรให้เหมาะสมและแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างบูรณาการ และโดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเขตลาดกระบัง การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมการขนส่งทางบก สถานีตำรวจนครบาลจรเข้น้อย ในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความปลอดภัยของทุกคน