สำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ (อังค์ถัด) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ผนึกกำลังจัดการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพ 17 นักวิทยาศาสตร์สตรี จาก 9 ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก เพื่อเสริมสร้างบทบาทและภาวะผู้นำในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อเร็ว ๆ นี้
.
.
รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยถึงความพยายามในการลดช่องว่างระหว่างเพศว่า ยังคงห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตามหลักเกณฑ์ทั้งด้านขอบเขตของกิจกรรม เศรษฐกิจ การเมือง สุขภาพ และการศึกษา ซึ่งในปีนี้มีความคืบหน้าจากปีที่แล้ว เพียง 0.3% จาก รายงานสถานการณ์ด้านความไม่เท่าเทียมทางเพศทั่วโลก ปี 2023 ของ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ชี้ว่า อาจจะใช้เวลามากกว่า 169 ปี ในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ ในการมีส่วนร่วมด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ เมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียด พบว่า 35% ของประชากรผู้หญิงสำเร็จการศึกษาที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ และจำนวนยิ่งน้อยลง เมื่อพูดถึงการศึกษาเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ โดยคิดเป็นเพียง 22% ของผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านการพัฒนาและวิจัยปัญญาประดิษฐ์ 30% ของนักวิจัยทั่วโลก และมีเพียง 20% เท่านั้น ที่เป็นหัวหน้านักวิจัยในสถาบันวิจัยต่าง ๆ ทั่วโลก และในบางประเทศ มีเพียง 5.3% ของผู้บริหารองค์กรระดับสูง เป็นเพศหญิง (Deloitte, 2019)
.
.
หลายงานวิจัย ชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจและสถาบันต่าง ๆ ที่มีสัดส่วนของผู้หญิงในระดับบริหารจัดการ และผู้บริหารระดับสูง จะมีผลสัมฤทธิ์ในการทำงานสูงกว่าถึง 25% ของผลเฉลี่ยด้านกำไร เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนที่มีผู้หญิงในสถานที่ทำงานน้อยกว่า (FinancesOnline Research 2022, Statista & US business surveys 2021) และ ในระดับผู้นำ ผู้หญิงจะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้องค์กรตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรม และกลยุทธ์ที่มีความครอบคลุมมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ในระดับการวิจัยและพัฒนา ผู้หญิงสามารถพัฒนาปรับปรุงขอบเขตและคุณภาพของงานนวัตกรรม ผ่านมุมมองที่เป็นเอกลักษณ์ มิติที่กว้างขึ้น
.
อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก เพื่อดึงศักยภาพออกมา ซึ่งในปัจจุบันเรามาถึงจุดที่ช่องว่างทางเพศ เริ่มเข้ามาใกล้กันในด้านสิ่งประดิษฐ์ที่จดสิทธิบัตร ภายในปี 2061 (WIPO 2023) ซึ่งหมายความว่า สัดส่วนของนักประดิษฐ์หญิงที่ขอจดสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ทั่วโลก จะเท่ากับนักประดิษฐ์ชายภายในอีก 38 ปี ข้างหน้า ซึ่งความร่วมมือระหว่าง สำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จะช่วยส่งเสริมให้ผู้หญิงประสบกับผลสำเร็จในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
.
.
ทั้งนี้ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เป็นเป้าหมายหลักของประเทศไทย ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ หลังการยุติการระบาดของโรคโควิด-19 โดยมุ่งเน้นให้มีการลงทุนจากรากฐานความหลากหลายทางชีวภาพ และความร่ำรวยทางด้านวัฒนธรรม รวมถึงการสนับสนุนความยั่งยืน และครอบคลุมถึงโอกาสในด้านต่าง ๆ อีกทั้งยังช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันทางด้านธุรกิจใน 4 อุตสาหกรรมหลัก อันได้แก่ เกษตรและอาหาร , ยาและสุขภาพ , พลังงานชีวภาพ วัสดุชีวภาพ ชีวเคมี , ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นต้น
.
การฝึกภาคปฎิบัติอย่างเข้มข้น ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้จัดให้การฝึกอบรมนักวิจัย และผู้ประกอบการสตรี จากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ให้สามารถปรับตัวและประยุกต์แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวในประเทศของตนเองได้ โดยผู้เข้าร่วม 17 นักวิจัย ประกอบไปด้วย สมาชิก จาก อียิปต์ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย ฟิลิปปินส์ และ ประเทศไทย ซึ่งจะต้องเข้าร่วมการฝึกอบรมเป็นเวลา 6 วัน ในกรุงเทพ ซึ่งหลักสูตรประกอบไปด้วย การบรรยาย การประชุมเชิงปฏิบัติการ การเยี่ยมชมนอกสถานที่ของโครงการที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการจัดทำโครงงานและการนำเสนอต่อคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาผลงาน
.
.
นอกจากนี้ ผู้ร่วมสัมมนายังมีโอกาสเข้าเยี่ยมชม งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งจัดโดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้นักวิจัยเข้าใจถึงหลักการเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว และสามารถนำไปปรับใช้ในประเทศตนเองได้ อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระดับนานาชาติ และการสร้างเครือข่าย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว แบ่งปันแนวคิด และประสบการณ์ในระดับโลกอีกด้วย