รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มทร.ธัญบุรี และ นายเจริญชัย วงษ์จินดา รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาลัยชุมชน (ส.วชช.) ร่วมลงนามความร่วมมือ “การจัดการศึกษาและการสะสมหน่วยกิตในระบบธนาคารหน่วยกิต” โดยมี ดร.สิริกร มณีรินทร์ นายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน และ รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ ที่ปรึกษา มทร.ธัญบุรี ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมมังคลอุบล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เมื่อเร็ว ๆ นี้
ดร.สิริกร มณีรินทร์ นายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน กล่าวว่า แนวคิดที่ สถาบันวิทยาลัยชุมชน เริ่มดำเนินโครงการคลังหน่วยกิต เนื่องจากภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด -19 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุควิถีชีวิตใหม่ จึงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะขับเคลื่อนให้ระบบการศึกษาตลอดชีวิตสามารถดำเนินการให้เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนในยุคใหม่ ซึ่งปัจจุบันพฤติกรรมของผู้เรียนมีการเปลี่ยนแปลงไป ความสนใจที่จะเรียนในระบบแบบยาว ๆ มีแนวโน้มลดลง ดังนั้น การออกแบบระบบที่สามารถเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนตามอัธยาศัย ตามความจำเป็นของชีวิตในแต่ละช่วงชีวิต จึงเป็นเรื่องที่ต้องการให้ความสำคัญ ประกอบกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้ออกแบบระบบคลังหน่วยกิตของชาติ (National Credit Bank System) ขึ้น พร้อมทั้งออกระเบียบในระดับกระทรวง มีมติให้ สถาบันวิทยาลัยชุมชน ดำเนินการเรื่องนี้ให้สอดคล้องกับระบบคลังหน่วยกิตของชาติ ดังนั้น สถาบันวิทยาลัยชุมชน จึงได้ลงนามความร่วมมือ “การจัดการศึกษาและการสะสมหน่วยกิตในระบบธนาคารหน่วยกิต (คลังหน่วยกิต)” กับ มทร.ธัญบุรี ขึ้น เพื่อร่วมมือกันจัดการศึกษาและพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้เต็มศักยภาพ มีความรู้ มีทักษะด้านวิชาการ ทักษะด้านวิชาชีพ สมรรถนะ และ มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรการจัดการศึกษา และการสะสมหน่วยกิตในระบบธนาคารหน่วยกิต หรือ คลังหน่วยกิต พร้อมทั้งร่วมมือกันส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่นและชุมชน สร้างภาคีเครือข่ายร่วมพัฒนาคุณภาพ และนวัตกรรมการศึกษา ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการยกระบบคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจในระดับชุมชน
โดยในส่วนของ ส.วชช.ได้เริ่มดำเนินการเบื้องต้น ด้วยการออกระเบียบเพื่อรองรับเรื่องนี้เอาไว้แล้ว โดย วชช.ได้เปิดโอกาสให้มีการเทียบโอนหน่วยกิตระหว่างกันได้ ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และการเทียบประสบการณ์ได้ด้วย ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ชุมชน ปราญช์ชาวบ้าน และบุคคลทั่วไป ที่มีความชำนาญเป็นเลิศด้านต่าง ๆ มาเทียบสมรรถนะได้ โดยจะมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาพิจารณาดำเนินการให้อย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพฝีมือแรงงานของประชาชนทางหนึ่งด้วย
ด้าน รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของ มทร.ธัญบุรี จะดำเนินการในเรื่องออกแบบและพัฒนาหลักสูตร ทั้งหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตร non-degree การจัดการเรียนรู้ และการวัดประเมินผล ทั้งจะร่วมกับ สถาบันวิทยาลัยชุมชน จัดการประชุม สัมมนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้านการจัดการศึกษาตลอดชีวิตในระบบธนาคารหน่วยกิต (คลังหน่วยกิต) มีการจัดวิทยากร แหล่งเรียนรู้ และแหล่งศึกษาหาความรู้เสริมให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งความร่วมมือกับ สถาบันวิทยาลัยชุมชน ในครั้งนี้ เนื่องจากเล็งเห็นว่า วิทยาลัยชุมชน เป็นองค์กรที่จะช่วยพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า เป็นสถาบันที่อยู่ในพื้นที่ มีความร่วมมือกับชุมชน และจะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นมาอีกทางหนึ่งด้วย