เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดโครงการส่งเสริมความร่วมมือและพัฒนาศักยภาพของสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรของไทยทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม กับ เดนมาร์ก ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สอศ. และ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร และงานฟาร์ม ระหว่าง ไทย กับ เดนมาร์ก ให้กับครู อาจารย์ และบุคลากร จำนวน 60 คน จาก สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรทั้ง 4 ภาค ระหว่างวันที่ 4 – 5 กันยายน 2566 ณ โรงแรมสยามธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
นายณรงค์ชัย เจริญรุจิทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ กล่าวว่า การดำเนินโครงการส่งเสริมความร่วมมือและพัฒนาศักยภาพของสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรของไทยทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม กับ เดนมาร์ก มี Mr. Niels Erik Jespersen (ผู้เชี่ยวชาญการจัดการฟาร์มวัว) and Ms. Marianne Kyed (ผู้เชี่ยวชาญด้านฟาร์มสุกร) จาก Dalum Academy of Agricultural Business Denmark (สถาบันฝึกอบรมด้านธุรกิจเกษตร เดนมาร์ก) เป็นวิทยากรบรรยาย โดยมีหัวข้อ ดังนี้ 1. ประวัติศาสตร์ความเป็นมา และ กระบวนการคิดและการสอนในเดนมาร์ก 2. ระบบการศึกษาในเดนมาร์ก 3. การจัดการ – การผลิตปศุสัตว์ 4. การจัดการฟาร์มโคนม 5. การเกษตรที่ยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสภาพอากาศ – รวมการจัดการข้อมูลและเครื่องมือเพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และการใช้สารอาหารให้เหมาะสม 6. การทําฟาร์มในอนาคต และ ฟาร์มอัจฉริยะ และ 7. โครงสร้างพื้นฐาน – การเกษตร – ธรรมชาติ – อุตสาหกรรมและชีวิตในเมือง เพื่อให้ครูและบุคลากรที่เข้าร่วมโครงการได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และนำความรู้ เทคนิคต่าง ๆ จากการบรรยายมาปรับและประยุกต์ใช้ในการยกระดับศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ของ วิทยาลัยการเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ตลอดจนพัฒนาเสริมสร้างโครงสร้างให้ประเทศไทย เป็นประเทศแห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร ที่เน้นความยั่งยืนตามนโยบายเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy)
ด้าน ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเกษตรสมัยใหม่ ร่วมบรรยายพิเศษ ในโครงการฯ และกล่าวในตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันทั่วโลกได้ให้ความสนใจกับ Smart Technology ที่มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตร และการลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกลุ่มเกษตรอาหาร และ เทคโนโลยีชีวภาพ เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านเกษตรอาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ สามารถอาศัยทุนความได้เปรียบในความหลากหลายเชิงชีวภาพ เพื่อต่อยอดการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความกินดี อยู่ดี ให้กับประชาชนในทุกภูมิภาค จึงนับเป็นโอกาสสำคัญที่ครู อาจารย์ จาก สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร ทั้ง 4 ภาคของไทย ที่เข้ารับการอบรมจะได้ความรู้และเทคนิคต่าง ๆ สู่การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนด้านเกษตรกรรมของประเทศต่อไป