มูลนิธิตะวันฉาย เพื่อผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และพิการทางศีรษะและใบหน้า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการสนับสนุนจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จัด “ค่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตน้องตะวันฉาย” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ.ทัศนีย์ วังศรีมงคล กรรมการมูลนิธิตะวันฉายฯ กล่าวรายงาน ว่าที่ร้อยเอก พงเจตน์ พรกุณา ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธี ณ ราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โอเทล อำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น เมื่อเร็ว ๆ นี้
.
.
รองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ.ทัศนีย์ วังศรีมงคล กรรมการมูลนิธิตะวันฉายฯ กล่าวว่า โครงการ การบริการที่สมบูรณ์แบบเพื่อการดูแลผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 11 ประจำปีงบประมาณ 2566″ มีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนาการบริการที่สมบูรณ์แบบในการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และ พิการทางศีรษะและใบหน้า ให้มีความสมบูรณ์แบบครอบคลุมทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ สุขภาพ การศึกษา การดำรงชีวิต สังคม และ การเสริมสร้างพลังอำนาจในตนเอง และเพื่อให้ผู้ป่วยเห็นคุณค่าในตนเอง มีความมั่นใจในการเข้าสังคมมากขึ้น รวมทั้งสามารถตั้งเป้าหมายชีวิต และ พัฒนาศักยภาพของตนเองได้ นอกจากนั้น ปีนี้ยังเป็นปีแรกที่มีการแต่งตั้งทูตตะวันฉาย ซึ่งจะได้รับทุนการศึกษา ทุนละ 5,000 บาท ด้วย
.
.
ด้าน ว่าที่ร้อยเอก พงเจตน์ พรกุณา ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริการที่สมบูรณ์แบบเพื่อการดูแลผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ฯ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ 4 เรื่องการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ขณะเดียวกัน ยังเป็นไปตามแผนแม่บทที่ 13 เรื่องการเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี และสอดคล้องกับแผนงานภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความยากจน และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และกรอบแนวทางการพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนาจังหวัดขอนแก่น พ.ศ. 2566-2570 ในประเด็น การพัฒนาที่ 4 การพัฒนาสังคมสุขภาวะให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ตามแนวทางการพัฒนา ที่ประกอบไปด้วย การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัยให้มีสุขภาวะและความเป็นอยู่ดี การส่งเสริมสวัสดิการและการพัฒนาทักษะด้านการประกอบอาชีพให้มีรายได้อย่างยั่งยืน และ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นฐานในการสร้างสุขภาวะที่ดี
.
ทั้งนี้ “ค่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตน้องตะวันฉาย” ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น อย่างต่อเนื่อง กระทั่งดำเนินการมาถึงปีที่ 11 โดยในครั้งนี้ ใช้ระยะเวลาดำเนินงาน 2 วัน 1 คืน ระหว่างวันที่ 2-3 กันยายน 2566 มีผู้เข้าร่วมโครงการ คือ น้องตะวันฉาย อายุ 7-18 ปี 38 คน และ ครอบครัวน้องตะวันฉาย 51 คน ทีมวิทยากร และเจ้าหน้าที่ 30 คน
.
.
กิจกรรมในช่วงเช้าเป็นการเข้าฐานของผู้ป่วย ประกอบไปด้วย ฐานที่ 1 ศัลยกรรมตกแต่ง โดยกิจกรรมจะมีการประเมินภาพลักษณ์ใบหน้าของผู้ป่วย เพื่อแก้ไขปัญหา หรือ ความบกพร่องทางศีรษะและใบหน้าเพิ่มเติม โดยทีมศัลยแพทย์ตกแต่ง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ถ่ายภาพท่ามาตรฐาน ฐานที่ 2 ทันตกรรมจัดฟัน เน้นการส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากของผู้ป่วย ทั้งการตรวจสุขภาพช่องปาก และแนะนำวิธีการใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกต้อง โดยทีมทันตแพทย์จัดฟัน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
.
ฐานที่ 3 ฉันคือเพื่อนที่ดีที่สุดของตัวเอง รู้จักและทำความเข้าใจตนเอง เมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น สร้างความสุขทั้งกายและใจ ด้วยการคิดใหม่ ทำใหม่ โดยนักจิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น การสร้างสุขภาวะที่ดี การวางแผนครอบครัว และ เพศสัมพันธ์ โดยพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ฐานที่ 4 พลังเชิงบวก เสริมพลังเชิงบวก เพื่อให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจ และ พัฒนาบุคลิกภาพนำไปสู่การเข้าสังคม โดยอาจารย์และนักศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
.
.
และ ฐานที่ 5 Adventure in English โดยจิตอาสา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่วนกลุ่มผู้ปกครอง ประกอบไปด้วย ฐานแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูแลลูกรัก แบ่งปันประสบการณ์ชีวิตการเลี้ยงดูผู้ป่วย โดยผู้ปกครองเติมความรู้ เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดี ให้ความรู้และส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วยและครอบครัว ต่อจากนั้นในช่วง 13.30 น. เดินทางไปยัง ศูนย์ค้ำคูณอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น
.
สำหรับกิจกรรมในวันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน 2566 เดินทางไปยัง พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ หัวข้อการสกัด DNA อย่างง่าย และ นิติวิทยาศาสตร์ พาลาลอย of love ในช่วงท้ายเป็นการประเมินและสรุปผลการเข้าร่วมโครงการ โดยทีมเจ้าหน้าที่ศูนย์ตะวันฉาย