จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่จังหวัดชลบุรี สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ ร่วมกับ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ และ ศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกไปสำรวจเบื้องต้น พบว่า ยังไม่พบผลกระทบที่เห็นชัดเกิดขึ้น เนื่องจากคราบน้ำมันได้ถูกกำจัดไปเกือบหมดแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของทีมวิจัยที่ทำงานศึกษาผลกระทบของน้ำมันรั่วที่มีต่อระบบนิเวศปะการัง ในอดีตที่ผ่านมาที่ระยองทั้งสองครั้ง พบว่า ผลกระทบอาจจะยังไม่เกิดให้เห็นทันที แต่อาจจะใช้เวลาในการแสดงผลกระทบที่ได้รับภายหลัง
.
.
ศาสตราจารย์ ดร. สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า จากการศึกษาในอดีต และในห้องปฏิบัติการที่ผ่านมา พบว่า น้ำมัน หรือ คราบน้ำมัน รวมทั้ง สารขจัดคราบน้ำมัน สามารถทำให้ปะการังเป็นหมันได้ โดยปะการังไม่สามารถปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ไข่และสเปิร์มได้ หรือ ถึงแม้ปะการังจะสามารถปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ไข่และสเปิร์มได้ แต่คราบน้ำมันและสารขจัดคราบน้ำมัน จะทำให้เซลล์สืบพันธุ์ที่ถูกปล่อยออกมา มีรูปร่างผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถปฏิสนธิกันได้ ทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า ปะการังเป็นหมันชั่วคราว แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าสิ่งแวดล้อมกลับมาเหมือนเดิม ปะการังส่วนใหญ่ก็สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้ แต่อาจจะไม่ 100 % ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดว่า จะมีผลกระทบในระยะกลางและระยะยาวอย่างไรต่อสัตว์ทะเล ซึ่งการตรวจติดตามผลกระทบนี้ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อดูไปถึงสรีรภายในของสัตว์ทะเล
.
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. วรณพ วิยกาญจน์ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า เนื่องจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีสถานีวิจัยสัตว์ทะเลตั้งอยู่บนเกาะสีชัง และมีงานวิจัยเกี่ยวกับการปลูกปะการังที่เกาะค้างคาวด้วย จึงต้องมีการตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดว่าการรั่วไหลของน้ำมันในครั้งนี้ จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลบริเวณนั้นอย่างไร เพราะทั้งเกาะค้างคาว และเกาะสีชัง ห่างจากบริเวณที่น้ำมันรั่วประมาณ 1-2 กิโลเมตร เท่านั้น ทางทีมนักวิจัยจากจุฬาฯ กำลังดำเนินการเก็บตัวอย่าง และสำรวจอย่างละเอียด โดยจะใช้เรือจุฬาฯ วิจัย ออกไปเก็บตัวอย่างน้ำทะเล และดิน ที่อยู่บริเวณรอบ ๆ กลุ่มคราบน้ำมัน เพื่อดูผลกระทบของน้ำมันที่รั่ว และสารเคมีขจัดคราบน้ำมัน (Oil Spil Dispersant) ต่อสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อมบริเวณนั้น และจะนำมาศึกษาวิจัยในเชิงลึก และนำเทคโนโลยีการแยกลำดับสารทางพันธุกรรม (DNA) ของสิ่งมีชีวิตแบบ metagenomic มาประยุกต์ใช้ โดยการศึกษาในลักษณะนี้ จะสามารถบ่งบอกถึงผลกระทบภายในของสัตว์ทะเล รวมทั้งปลาต่าง ๆ ในบริเวณนั้นได้ นอกจากนี้ ทางทีมจุฬาฯ ได้วางแผนการศึกษาผลกระทบของการรั่วไหลของน้ำมันในระยะยาวด้วยเช่นกัน โดยจะมีการลงไปเก็บตัวอย่างมาศึกษาเป็นระยะ ๆ
.
.
จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ มีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้ว เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2556 และ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 ที่ระยอง ซึ่งทาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการประเมินถึงการรั่วไหลของน้ำมันดิบลงสู่สิ่งแวดล้อม โดยได้เข้าไปศึกษาปริมาณโลหะหนัก ปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ผลของน้ำมันและสารเคมีขจัดคราบน้ำมันต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล รวมทั้งการสะสมและส่งผ่านสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในห่วงโซ่อาหารทะเล
.
“สำหรับในครั้งนี้ ทางทีมวิจัยจะติดตามศึกษาผลกระทบต่อสัตว์ทะเลและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เข้ามาร่วมมือกันป้องกันแก้ไขในระยะยาว เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลของเราให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้” ศ.ดร.วรณพ กล่าวทิ้งท้าย