ราชมงคลพระนคร ผนึกกำลัง พันธมิตร วิจัยพัฒนาต้นแบบระบบการจัดการแบตเตอรี่ในรถสามล้อไฟฟ้า ตั้งเป้ายกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter
ท่ามกลางปัญหาการปล่อยมลพิษ และปัญหาสภาพอากาศจากฝุ่น PM 2.5  ประเทศไทยได้วาง Road Map ประกาศจุดยืนในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)  โดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero emission) ในปี พ.ศ.2608  ทำให้ภาครัฐได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์สำคัญ โดยเพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ภายในปี พ.ศ. 2573  แต่อย่างไรก็ตาม การผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าในไทย กลับไม่ได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากประเด็นด้านราคาค่อนข้างสูง และยังเกิดข้อถกเถียงด้านการซ่อมบำรุงรักษา โดยเฉพาะในส่วนของแบตเตอรี่ที่ถือเป็นหัวใจหลักของรถยนต์ไฟฟ้า จากข้อมูลดังกล่าว จึงทำให้ 5 หน่วยงาน ได้แก่ อาจารย์กมลณิตย์ ภู่สร อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร  นายบัณฑิต ตันบุญจิตต์ นักวิจัยบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS)  ผศ.ณรงค์ ธรรมภูติ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมไฟฟ้า วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  ผศ.ดร.สุเมธ ลิปิโรจน์พงษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีไฟฟ้า  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง  และ บริษัท พีทีเอส คอมบิเนชั่น จำกัด (บริษัทร่วมทุน) ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยการพัฒนาต้นแบบระบบการจัดการแบตเตอรี่ (Battery Management System : BMS)  สำหรับชุดแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยได้รับการสนับสนุนการวิจัยด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้ แผนงานวิจัย ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบคมนาคมแห่งอนาคต และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ  ประจำปีงบประมาณ 2565
.
.
อาจารย์กมลณิตย์ ภู่สร อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร  กล่าวว่า ในช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา หลายภาคส่วนได้มีการดำเนินโครงการเพื่อลดการปนเปื้อนจากไอเสีย และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  โดยเริ่มหันมาให้ความสนใจกับยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ การพัฒนาต้นแบบระบบการจัดการแบตเตอรี่สำหรับชุดแบตเตอรี่  ผู้วิจัยต้องการพัฒนาต้นแบบในส่วนของระบบการจัดการแบตเตอรี่ โดยทดสอบในรถสามล้อไฟฟ้า ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้งาน จะถูกนำมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งานของแบตเตอรี่ในสภาวะการใช้งานจริง พร้อมทั้งนำปัญหาที่ได้จากการใช้งานจริง มาพัฒนาระบบการจัดการแบตเตอรี่ สำหรับใช้ร่วมกับแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้าชนิดอื่น ๆ ต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนรถสามล้อไฟฟ้าสำหรับการทดสอบวิจัย จาก บริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถสามล้อไฟฟ้ามูฟมี (MuvMi)
.
.
อาจารย์กมลณิตย์ กล่าวต่อว่า ระบบการจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ที่พัฒนาขึ้น มีจุดเด่นหลัก คือ 1. ความละเอียดในการอ่านค่าแรงดันเซลล์แบตเตอรี่ที่ 0.1 mV  2. จำนวนเซลล์สูงสุดที่สามารถต่อได้ 36 cell ต่อชุดอุปกรณ์ สามารถต่อเพิ่มเซลล์แบตเตอรี่ได้ โดยการต่ออุปกรณ์เพิ่มจากตัว BMS หลัก 3. มีความปลอดภัยสูง เพราะมีการแยกกราวด์ระหว่างวงจรวัดแรงดันแบตเตอรี่ กับ วงจรควบคุมและสื่อสาร 4. รองรับการสื่อสารผ่าน CAN BUS, Bluetooth และ WiFi  5. มี CAN 2 Channel รองรับการอัดประจุผ่านโปรโตคอล GB/T (และสามารถออกแบบเพิ่มให้รองรับโปรโตคอล CHAdeMO ได้ โดยเพิ่มชุดอุปกรณ์) 6. บันทึกข้อมูลการใช้งานแบตเตอรี่ลงใน memory card ที่อยู่ภายในตัว ทั้งนี้ หลักการทำงานของระบบจัดการแบตเตอรี่ (BMS) จะทำหน้าที่หลักในการป้องกันความบกพร่องต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับเซลล์แบตเตอรี่ อาทิ การป้องกันแรงดันสูงเกิน หรือ ต่ำเกิน การป้องกันการอัดประจุ หรือ คายประจุสูงเกิน และ การป้องกันอุณหภูมิสูงเกิน เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อแบตเตอรี่ และผู้ใช้งาน รวมไปถึงการสมดุลประจุของเซลล์แบตเตอรี่ เพื่อให้มีการใช้งานที่ยาวนานมากขึ้น ซึ่งระบบจัดการแบตเตอรี่จะทำงานสอดประสานกับตัวควบคุมการขับเคลื่อนของรถ (VCU) เพื่อให้ตัวควบคุมรถสามารถทราบถึงสถานะประจุของแบตเตอรี่ และทำการประมวลผลการใช้พลังงานของรถไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งการสื่อสารข้อมูลภายในระหว่าง BMS และ VCU จะใช้การสื่อสารผ่านทางโปรโตคอล CAN Bus ซึ่งเป็นการสื่อสารที่มีเสถียรภาพสูง และ ใช้กันอย่างแพร่หลายในรถยนต์ไฟฟ้าปัจจุบัน
.
.
อย่างไรก็ตาม จากความร่วมมือจนก่อให้เกิดผลงานวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนได้ดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพระบบการจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ที่พัฒนาขึ้น ร่วมกับ รถสามล้อไฟฟ้า ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี  โดยการทดสอบนี้ได้นำผลจากระบบการจัดการแบตเตอรี่สำหรับชุดแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ไปประยุกต์ในงานด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV conversion) ได้แก่ รถไฟฟ้าดัดแปลงที่ใช้ในงานของมหาวิทยาลัย รถไฟฟ้าดัดแปลงในโรงงานอุตสาหกรรม และรถไฟฟ้าดัดแปลงสำหรับเกษตรกรรม สอดรับกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างมลพิษทางอากาศ และสอดรับกับแนวทางของมหาวิทยาลัยในการเปลี่ยนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว หรือ Green University ในอนาคต  อีกทั้ง คณะนักวิจัยกำลังพัฒนาแอปพลิเคชันแสดงผลข้อมูลพื้นฐานบนระบบปฏิบัติการ Windows  เพื่อรองรับการใช้งานสำหรับบุคคลทุกกลุ่ม เทียบเท่าผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาหลักในการผูกขาดเทคโนโลยีในอนาคต ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 096-153-5265

RANDOM

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!