สมศ. ชู รร.ศรีสังวาลย์เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ต้นแบบโรงเรียนที่มุ่งเสริมทักษะผู้เรียนผ่านนวัตกรรม ควบพัฒนาทักษะอาชีพให้กับนักเรียน หนุนมีงานทำเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวในอนาคต

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

สมศ. เผย ภาพรวมการประเมินคุณภาพภายนอกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ โรงเรียนเฉพาะความพิการในประเทศไทย พบว่า ในระดับชั้นอนุบาลมีผลประเมินเป็นไปตามเกณฑ์ ร้อยละ 96.24 ระดับชั้นประถมศึกษา และ มัธยมศึกษา มีผลประเมินเป็นไปตามเกณฑ์ ร้อยละ 97 จาก จำนวนสถานศึกษา 68 แห่งทั่วประเทศ พร้อมโชว์ตัวอย่างความสำเร็จ รร.ศรีสังวาลย์เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ต้นแบบโรงเรียนเฉพาะความพิการ นำดิจิทัลและนวัตกรรมมาส่งเสริมการเรียนรู้ ผ่านวิชาวิทยาการคำนวณ และ หลักสูตรการเรียนการสอนที่ยกระดับ และพัฒนาทักษะด้านอาชีพให้กับนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการประเมินคุณภาพภายนอกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ โรงเรียนเฉพาะความพิการในประเทศไทย จากจำนวนสถานศึกษา 68 แห่งทั่วประเทศ ที่เข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอก ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 พบว่า โรงเรียนเฉพาะความพิการ ระดับชั้นอนุบาล มีผลประเมินเป็นไปตามเกณฑ์ ร้อยละ 96.24 โดยแบ่งเป็น 3 มาตรฐาน ประกอบด้วย มาตรฐานที่ 1 คุณภาพของเด็ก เป็นไปตามเกณฑ์ ร้อยละ 94 มาตรฐานที่ 2 กระบวนการบริหารและการจัดการ เป็นไปตามเกณฑ์ ร้อยละ 97 และ มาตรฐานที่ 3 การจัดประสบการณ์ที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ เป็นไปตามเกณฑ์ ร้อยละ 95 ส่วน ระดับชั้นประถมศึกษา และ มัธยมศึกษา มีผลประเมินเป็นไปตามเกณฑ์ ร้อยละ 97 โดยแบ่งเป็น 3 มาตรฐาน ประกอบด้วย มาตรฐานที่ 1 คุณภาพของผู้เรียน เป็นไปตามเกณฑ์ ร้อยละ 98.48 มาตรฐานที่ 2 กระบวนการบริหารและการจัดการ เป็นไปตามเกณฑ์ ร้อยละ 98.48 และ มาตรฐานที่ 3 กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นไปตามเกณฑ์ ร้อยละ 94

ทั้งนี้ มีโรงเรียนเฉพาะความพิการในประเทศไทย ได้รับการประเมินและมีแบบอย่างเป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) หรือ มีนวัตกรรม (Innovation) จำนวน 4 แห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้น ได้แก่ โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการจัดการศึกษาโรงเรียนเฉพาะความพิการ ต้นแบบของโรงเรียนที่นำดิจิทัลและนวัตกรรมมาส่งเสริมการเรียนรู้ ผ่านวิชาวิทยาการคำนวณและหลักสูตรการเรียนการสอนที่ยกระดับและพัฒนาทักษะด้านอาชีพให้กับนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากผลความสำเร็จของ โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ ผู้ประเมินภายนอกของ สมศ. ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ให้สถานศึกษารักษาคุณภาพของสถานศึกษา และพัฒนาให้สูงขึ้น ด้วยการพัฒนารูปแบบวิธีการปฏิบัติงานที่ทำให้สถานศึกษาประสบความสำเร็จ เป็นเลิศ ตามเป้าหมายที่ได้ปฏิบัติจริง ให้เป็นที่ประจักษ์ และยอมรับโดยทั่วกัน ควบคู่ไปกับ การพัฒนารูปแบบการเสริมสร้างสมรรถนะเชิงบูรณาการสำหรับผู้เรียน โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน และ หลักการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ โดยใช้ความเข้มแข็งจากเครือข่ายที่มีอยู่ สร้างรูปแบบการบริหารและการจัดการแบบมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และ เป็นแบบอย่างที่ดี (Best Practice) แก่สถานศึกษาอื่น ๆ ของประเทศต่อไป

“นอกจากการประเมินภายนอกให้กับสถานศึกษาแล้ว สมศ. มีแนวทางในการส่งเสริมและกระตุ้นให้สถานศึกษานำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปใช้ โดยการให้ข้อเสนอแนะที่มีความเป็นไปได้ และสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา เพื่อให้สถานศึกษานำไปปรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพ รวมทั้งยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัด และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานศึกษามีการนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปใช้อีกด้วย โดย สมศ. ได้เข้าประเมินสถานศึกษาทุกประเภท เพื่อช่วยส่งเสริมและแนะนำสถานศึกษาโดยมีจุดมุ่งหมายในการช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ในการสร้างคุณภาพผู้เรียนและพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานในทุกมิติ ทั้งผู้เรียน ครูผู้สอน สถานศึกษา เพื่อให้ระบบการศึกษาไทยมีความเป็นสากลต่อไป” ดร.นันทา กล่าว

ด้าน นางเสมอจิต ชูหอยทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสังวาลย์ จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียนว่า สถานศึกษาเน้นสอนเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย หรือ การเคลื่อนไหว และด้านสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันในปีการศึกษา 2566 มีจำนวนนักเรียน 290 คน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 มีความบกพร่องทางร่างกาย แต่สามารถเรียนได้ในระดับสติปัญญาปกติ กลุ่มที่ 2 พิการซ้ำซ้อน ซึ่งต้องมีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนที่เหมาะสม กลุ่มที่ 3 กลุ่มพิการซ้ำซ้อนระดับรุนแรง และ กลุ่มที่ 4 ออทิสติก โดยหลักสูตรการเรียนการสอนมุ่งเสริมทักษะการดำรงชีวิตประจำวัน เป็นหลักสูตรที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้ชีวิตประจำวันช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อกลับไปอยู่บ้านก็ไม่เป็นภาระสำหรับผู้ปกครอง รวมทั้งมุ่งส่งเสริมอาชีพ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ และฝึกทักษะกระบวนการทำงานให้กับนักเรียนในทุกระดับชั้นตามความพร้อมและศักยภาพของตนเอง มีการจัดการเรียนการสอนวิชาชีพ 5 กลุ่มอาชีพ ตามความสนใจและความถนัด พร้อมกับการฝึกทักษะอาชีพตามหลักสูตรอาชีพระยะสั้น เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะสามารถผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพได้

เนื่องจากสถานศึกษาตั้งอยู่ในพื้นที่นวัตกรรม จึงมีการกำหนดให้ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะและใช้ดิจิทัลมาสนับสนุน เริ่มตั้งแต่ ระดับชั้นอนุบาล เน้นการเรียนรู้แบบอันปลั๊ก จัดกิจกรรมผ่านการเรียนการสอนแบบที่ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ เน้นการเรียนรู้ผ่านการเล่น รู้จักการใช้ชีวิตประจำวันผ่านสื่อที่เหมาะสมกับเด็กในวัยอนุบาล เช่น เกม กิจกรรมสนุกสนาน นิทาน บัตรภาพ หรือ บทเพลง เรียนรู้การใช้สัญลักษณ์แทนคำตอบ โดยคุณครูจะสร้างโจทย์แบบง่ายให้เด็กแก้ปัญหาด้วยตนเอง ฝึกทักษะการตัดสินใจ เกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ฝึกทักษะการอ่านและเขียนเพื่อสื่อสารและความคิดสร้างสรรค์ ส่วน ระดับชั้นประถมศึกษา สอนคิดในเชิงซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ผ่านการเรียนรู้แบบ Learn & Play ผู้เรียนสามารถเขียนออกแบบและสร้างชุดคำสั่งแบบง่ายผ่านแอปพลิเคชันสมาร์ทโฟน ระดับมัธยมศึกษา จะเป็นระดับที่ยากขึ้น โดยจะมีคุณครูคอมพิวเตอร์เป็นที่ปรึกษา สร้างเครือข่ายนวัตกรรม ต่อยอดการเรียนการสอนสู่งานอาชีพ ผ่านศูนย์เรียนรู้ STEAM สู่ SMART FARM โดยครูผู้สอน และ ผู้เรียน ร่วมกันคิดจัดการเรียนการสอน Coding ผ่านวิชาวิทยาการคำนวณ ให้ผู้เรียนสามารถนำทักษะความรู้ที่ได้รับ มาประดิษฐ์เครื่องมือ หรือ อุปกรณ์ที่ต้องนำไปใช้ในการเกษตร เช่น เครื่องมือตรวจวัดสภาพอากาศทางการเกษตร ได้แก่ การวัดอุณหภูมิ ความชื้นดิน ความชื้นอากาศ และปริมาณน้ำฝน โดยผู้เรียนจะตรวจสอบผ่านระบบคอมพิวเตอร์ จากห้อง Control Room ไม่ต้องลงมาตรวจสอบด้วยตนเอง

จากรูปแบบดังกล่าว ส่งผลให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีทักษะการเขียน Coding สามารถนำความรู้มาคิดค้นสร้างสิ่งประดิษฐ์ต่อยอดการเรียนรู้ เช่น การทำงานผ่านเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printer) และ การควบคุมการเรียนรู้ STEAM สู่ SMART FARM นับเป็นการจัดการเรียนการสอนจากแนวคิดที่จะช่วยเหลือผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย หรือ การเคลื่อนไหว หรือ สุขภาพที่มีข้อจำกัดในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ นำความรู้ที่ได้ไปเป็นช่องทางประกอบอาชีพในอนาคต

“ความบกพร่องทางร่างกาย อาจจะมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรค โดยผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะ และนำไปต่อยอดใช้กับชีวิตประจำวัน ซึ่งจากการได้รับการประเมินจาก สมศ. นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก ด้วยรูปแบบการประเมินที่ไม่ยุ่งยาก และ ไม่เป็นภาระกับสถานศึกษา ผู้ประเมินมีความเป็นกัลยาณมิตร และได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ โดยให้สถานศึกษารักษามาตรฐาน และพัฒนารูปแบบวิธีการปฏิบัติงานให้เป็นที่ประจักษ์ตามเป้าหมาย ควบคู่กับ การพัฒนารูปแบบการเสริมสร้างสมรรถนะเชิงบูรณาการให้กับผู้เรียน ซึ่งสถานศึกษาได้นำผลการประเมินคุณภาพภายนอกมาปรับใช้ เพื่อต่อยอดผ่านการบูรณาการความร่วมมือกับเครือข่ายและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเริ่มต้นจากการนำมาเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา จากนั้นได้นำข้อสรุปมาใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาและต่อยอดสู่แผนปฎิบัติการประจำปี โดยเสริมในเรื่องของ Coding เข้าไปในหลักสูตร เน้นการฝึกทักษะอาชีพเป็นพื้นฐาน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำไปประกอบอาชีพและใช้ชีวิตประจำวันโดยพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด นางเสมอจิต กล่าว

RANDOM

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!