กลายเป็นไวรัลในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อเฟซบุ๊ก “ชมนาด อุปชิตกุล” โพสต์ภาพ “ผลงานภาพวาดกระดูกอาจารย์ใหญ่ด้วยเทคนิคสีน้ำ” ของ นักศึกษา ชั้นปีที่ 2 อาจารย์ประจำสาขาวิชาเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เหมือนจริงราวกับภาพถ่าย จนชาวโซเชียลต่างเข้ามาคอมเมนต์ และแชร์โพสต์ชื่มชนเป็นจำนวนมาก
อ.ดร.ชมนาด อุปชิตกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ผลงานเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่ง ของ วิชาจิตรกรรมขั้นสูงสำหรับเวชนิทัศน์ ซึ่งอยู่ในสาขาวิชาเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ “แม้จะอยู่ ในสังกัดคณะแพทย์ฯ แต่นักศึกษาสาขานี้ ไม่ใช่หมอ” ซึ่ง สาขาเวชทัศน์ คือ การเรียนการสอนเพื่อสร้างสื่อทางการแพทย์ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ หุ่นจำลอง วิดีโอ ภาพถ่าย เพื่อเป็นสื่อการศึกษาทางการแพทย์ หรือ แม้แต่แอปพลิเคชันเพื่อช่วยสื่อสารให้คุณหมอ นักศึกษาแพทย์ และคนไข้ เข้าใจกันมากขึ้น
“เวชนิทัศน์” เป็นการเรียนหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต 4 ปีจบ ที่นักศึกษาจะได้เรียนทั้งวิชาด้านการแพทย์ เช่น อาการทางคลินิก วิชาปรสิตวิทยา วิชาพยาธิวิทยา หรือ Gross Anatomy จากอาจารย์หมอ ควบคู่กับ การเรียนรู้เทคนิคด้านการสร้างสื่อเทคโนโลยี และศิลปะ เราอาจนิยามได้ว่า นักศึกษาเรา คือ เด็กวิทย์ หัวใจศิลป์
อย่างไรก็ตาม การวาดภาพทางการแพทย์นั้น ต้องใช้เทคนิคที่แตกต่างจากการวาดภาพธรรมดา เพื่อให้เห็นภาพความเป็นจริง ใส่รายละเอียด สัดส่วนที่แม่นยำ ถูกต้อง เพื่อใช้อ้างอิงในเชิงวิชาการได้ ซึ่งต้องได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ หรือ คุณหมอ ไม่ใช่เพื่อความสมจริงและสวยงามเท่านั้น
ด้วยความตั้งใจที่อยากให้นักศึกษามีกำลังใจในการเรียน และเป็นเหมือนบอร์ดเก็บผลงานลูกศิษย์ ดร.ชมนาด จึงตัดสินใจโพสต์ภาพวาดบนโซเชียล แต่ผลตอบรับที่ได้กลับมานั้น เกินความคาดหมาย เพราะยอดไลค์ ยอดแชร์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน อาจารย์หมอ หรือ อาจารย์คณะอื่น ๆ ก็ติดต่อเข้ามาว่า สนใจให้นักศึกษาไปช่วยวาดภาพวิทยาศาสตร์การแพทย์ต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนด้วย
ด้าน นายนนทกรณ์ จันทร์หวาน (ภีม) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า หลังจากเห็นฟีดแบ็คบนโซเชียล ก็รู้สึกดีใจที่มีคนชื่นชอบผลงานการภาพวาดครั้งนี้ เพราะเป็นการวาดภาพกระดูกอาจารย์ใหญ่ของจริงครั้งแรก และเป็นภาพวาดที่ใช้เทคนิคสีน้ำขั้นสูงครั้งแรก ก่อนจะวาดก็มีการวัดสัดส่วนกระดูก ดูมุมแสงและเงา เก็บรายละเอียดต่าง ๆ จนมั่นใจว่า เหมือนจริง และถูกต้องทุกรายละเอียด จึงรังสรรค์มาเป็นผลงานกระดูกแขนและมือ
“ผมเลือกวาดกระดูกส่วนแขนและมือ เพราะเป็นส่วนที่มีรายละเอียดเยอะ ใช้เวลาวาดประมาณ 3-5 ชั่วโมง ผลงานก็ออกมาเป็นที่น่าพอใจ และหวังว่า ภาพวาดนี้จะถูกนำไปเป็นสื่อการเรียนการสอน หรือ สื่อการศึกษาทางการแพทย์ในอนาคต”
แม้จะไม่เคยรู้จักสาขาวิชาเวชนิทัศน์มาก่อน แต่ ‘นนทกรณ์’ ก็เลือกที่จะลองเข้ามาเรียนรู้ เพราะสนใจในหลักสูตรที่บูรณาการทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะไว้ด้วยกัน โดยหวังว่า การผลิตสื่อทางการแพทย์ของตัวเอง จะไม่ใช่เพียงสื่อที่ให้แพทย์ได้ศึกษาเท่านั้น แต่จะเป็นตัวกลางระหว่างหมอกับคนไข้ ให้สื่อสารเรื่องยากได้เข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาเวชนิทัศน์ ดร.ชมนาด ย้ำว่า ไม่จำเป็นต้องวาดภาพเก่ง หรือ ถนัดทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ แต่ขอให้เป็นคนที่ชื่นชอบการเรียนรู้ผ่านการฝึกปฏิบัติจริง เพราะตั้งแต่ชั้นปี 1-2 นักศึกษาจะได้เรียนรู้การสื่อสารสำหรับเวชนิทัศน์ ฝึกฝนการ Drawing พื้นฐานศิลปะ กราฟิก และการปั้น
กระทั่งขึ้นชั้น ปี 3 จะเริ่มเรียนรู้วิชาหุ่นจำลองทางการแพทย์ ฝึกฝนการทำ Motion Graphic , Coding การวาดการ์ตูนสำหรับเวชนิทัศน์ ไปจนถึง ถ่ายภาพทางการแพทย์ เป็นการสร้าง Multi skill ก่อนจะให้นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ได้เรียนรู้วิชานิทรรศการ สร้างโปรเจ็กต์สื่อทางการแพทย์จากสิ่งที่แต่ละคนชื่นชอบและสนใจ ซึ่งอาจจะร่วมมือกับอาจารย์หรือนักศึกษาคณะอื่น ๆ เพื่อบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้บริบทการทำงานของนักเวชนิทัศน์ในโรงพยาบาล และ การสร้างสื่อการเรียนการสอนในสายการศึกษาด้วย
“ปัจจุบันมีนักเรียนสมัครเข้ามาเรียนมากขึ้น เพราะเราพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติจริง เมื่อนักศึกษาแต่ละคนไปฝึกสหกิจ ก็ทำให้สถานประกอบการสนใจ และให้ทำงานต่อทันทีกว่า 30% ทั้งในไทยและประเทศอาเซียน พบว่าหลังจากจบการศึกษา มีภาวะว่างงานน้อย ในสายงานการตลาดที่หลากหลาย ใครที่สนใจเรียนสามารถติดตามข้อมูลได้ที่เฟซบุ๊ก สาขาวิชาเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น”