มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดพิธีส่งมอบนวัตกรรมในโครงการพัฒนากระบวนการผลิตข้าวฮางงอกด้วยวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นโครงการในกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้โครงการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ ประจำปี 2565
โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ศาสตราจารย์ ดร. อนงค์ฤทธิ์ แข็งแรง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิจัย และนวัตกรรม และ นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมพิธีส่งมอบ ณ โรงเรียนนาเชือกวิทยาคม อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อเร็ว ๆ นี้
ทั้งนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดำเนินโครงการการพัฒนากระบวนการผลิตข้าวฮางงอกด้วยวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นโครงการในกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้โครงการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ ประจำปี 2565 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. สุพรรณ ยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อพัฒนานวัตกรรมยกระดับกระบวนการผลิตข้าวฮางงอกแบบดั้งเดิมด้วยวิจัยและนวัตกรรม ตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Model) ช่วยลดเวลา แรงงาน และต้นทุนการผลิต ของกลุ่มผู้ผลิตในพื้นที่เป้าหมาย ในพื้นที่ 2 จังหวัดได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดกาฬสินธุ์
รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมพัฒนาองค์ความรู้จากงานวิจัยถ่ายทอดสู่ชุมชน กับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มาอย่างต่อเนื่อง ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของรัฐบาล และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในเรื่องการใช้ประโยชน์องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะการสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับการแปรรูป ข้าวฮางงอก ซึ่งถือเป็นชุดองค์ความรู้หนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งของมหาวิทยาลัย ที่สามารถยกระดับการผลิตจากวิธีการเดิมตามภูมิปัญญาชาวบ้าน มาพัฒนาด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ จนเป็นที่ยอมรับว่าช่วยให้กระบวนการผลิตจากเดิมที่มีความยุ่งยาก ต้องพิถีพิถันเพื่อควบคุมคุณภาพ และใช้เวลานานในการผลิตต่อรอบได้สั้นลง โดยสามารถลดเวลาจากเดิม 7 วัน เหลือเพียง 2 วัน
โดยมีชุดอุปกรณ์ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ผ่านการพัฒนาของบุคลากรของมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ชุดอุปกรณ์ล้างข้าวเปลือก ชุดอุปกรณ์เร่งการแช่และเพาะงอกข้าวเปลือก ชุดอุปกรณ์นึ่งข้าวเปลือก ชุดอุปกรณ์อบแห้งอินฟราเรดแบบถังหมุน โดยเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลการันตีจากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมทั้งในระดับชาติและนานาชาติหลายรางวัล ซึ่งชุดนวัตกรรมดังกล่าว สามารถช่วยลดต้นทุน และเพิ่มส่วนกำไรสุทธิได้ถึง 17.6 เท่าเทียบกับการจำหน่ายเป็นข้าวสารขาว ทำให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการใช้งานนวัตกรรมได้เป็นอย่างดีในทุกมิติ ทั้งมิติด้านการยกระดับกระบวนการผลิตตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Model) มิติทางสังคมและเศรษฐกิจ และ การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน