“หมวกคลุมศีรษะทารกแรกเกิดสำหรับเข้ารับการส่องไฟ” ลดการระคายเคือง นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ประหยัดทรัพยากร ลดค่าใช้จ่าย ฝีมือนักศึกษาป.โท มทร.ธัญบุรี

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter
ผลงานวิจัยนักศึกษาปริญญาโท ร่วมกับ นักวิจัยสาขาเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี “หมวกคลุมศีรษะทารกแรกเกิดสำหรับเข้ารับการส่องไฟ” ป้องกันแสงจากการส่องไฟ ลดการระคายเคืองผิวหนังจากพลาสเตอร์ และ ส่งเสริมความผูกพันระหว่างแม่และลูกน้อย ผลงานของ นายชนัญชิดา ณะสม นักศึกษาปริญญาโท โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สาคร  ชลสาคร คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภนิชา  ศรีวรเดชไพศาล อาจารย์สาขาเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมวิจัยในครั้งนี้    .
นายชนัญชิดา ณะสม กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ทารกแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลือง ต้องได้รับการรักษาด้วยการส่องไฟ ซึ่งในขณะที่ส่องไฟ ต้องมีการปิดตาทารกแรกเกิด ตามโรงพยาบาลส่วนใหญ่ใช้แผ่นฟิล์มทึบแสงห่อด้วยผ้าก๊อซ และปิดด้วยแถบกาวเหนียว หรือ พลาสเตอร์ ขณะที่ส่องไฟผ้าปิดตาอาจเลื่อนหลุด หรือ ในเคสที่ต้องใช้พลาสเตอร์แถบกาวปิด เวลาที่ลอก หรือ เปลี่ยนผ้า อาจทำให้ทารกเกิดความเจ็บปวด และเกิดรอยแดง หรือ ผื่นบริเวณรอบดวงตา จากปัญหาดังกล่าว จึงมีแนวคิดในการออกแบบหมวกคลุมศีรษะทารกแรกเกิด สำหรับเข้ารับการส่องไฟ ขึ้นมา
.
โดยกระบวนการออกแบบหมวกคลุมศีรษะ เริ่มจากการศึกษาลักษณะและสมบัติทางกายภาพของผ้าที่เหมาะสม เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ชนิดเส้นใย โครงสร้าง สี และ ลวดลายของผ้าที่เหมาะสม ต่อการใช้งานกับหมวกทารก จากผ้า 5 ชนิด คือ ผ้าสาลูสีขาว ผ้าสาลูลายการ์ตูน ผ้าสำลี ผ้าหนังไก่ และ ผ้านาโน พบว่า ผ้าสาลูลายการ์ตูน เนื้อผ้าเป็นผ้าฝ้ายร้อยละ 100 ไม่มีสารฟอกขาว ปลอดภัยต่อผิวทารก ระบายความร้อนได้ดี ติดสีย้อมได้ดี ให้ความนุ่มสบายตัว ซับน้ำได้ดี ยิ่งซัก ยิ่งนิ่ม มีลวดลายและสีสันผ้าที่น่ารัก ซึ่งเหมาะสำหรับทารก และ ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง จากการทดสอบตามาตรฐานสิ่งทอ พบว่า ค่าความคงทนของการขัดถูต่อการขึ้นขนบนผืนผ้าเป็นที่ยอมรับได้ ไม่เกิดอันตรายต่อทารก มีความคงต่อการซัก สามารถซักและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 
.
.
เมื่อได้ผ้าที่เหมาะสมแล้ว จึงได้นำมาออกแบบหมวกคลุมศีรษะ 5 แบบ ได้แก่ แบบแผ่นฟิล์มเย็บติด แบบเปิดปิด แบบมัดเชือกใต้คาง แบบหมวกพับสวมปิด และ แบบเปิดหน้าผาก ความสูง 11 เซนติเมตร และ ความกว้าง 9 เซนติเมตร รูปทรงการออกแบบบริเวณด้านหน้าในส่วนรอบ ๆ ดวงตา มีช่องใส่แผ่นทึบแสง (แผ่นฟิล์ม) ปิดไว้ สำหรับปิดดวงตาทั้ง 2 ข้าง เพื่อป้องกันแสงไฟ โดยเว้นบริเวณจมูกไว้ เพื่อให้ทารกแรกเกิดหายใจได้สะดวก ซึ่งบริเวณด้านข้าง และ บริเวณหู และ ด้านหลังจะคลุมศีรษะทารกทั้งหมด โดยความยาวถึงแค่กกหูทารกแรกเกิด คำนึงถึงการสวมใส่ที่กระชับ ใส่สบายไม่อึดอัด ขณะสวมใส่ในตู้อบ
.
.
โดยหมวกได้รับการประเมินความพึงพอใจจากผู้เชี่ยวชาญสาขาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น คณะพยาบาลศาสตร์ มทร.ธัญบุรี มารดาของทารกแรกเกิด โรงพยาบาลปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี จำนวน 40 คน บุคลากรทางการแพทย์หน่วยวิกฤตทารกแรกเกิด รพ.ปทุมธานี จำนวน 10 คน หมวกคลุมศีรษะทารกแรกเกิดสำหรับเข้ารับการส่องไฟ แบบมัดเชือกใต้คาง ได้รับความพึงพอใจระดับมาก สามารถป้องกันการเกิดรอยแดงบริเวณรอบดวงตา สวมใส่สะดวก มีความกระชับไม่เลื่อนหลุดง่าย ด้วยความคงทน ไม่ขาดง่าย และยิ่งซักยิ่งมีความอ่อนนุ่ม ส่งผลให้หมวกคลุมศีรษะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยนำไปซักและผ่านการฆ่าเชื้อ ทำให้ประหยัดทรัพยากร ลดการทำงานของผู้เกี่ยวข้อง และประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลทารกแรกเกิดที่ได้รับการส่องไฟ จากการใช้ผ้าปิดตาแบบเดิมที่ต้องมีการเปลี่ยนผ้าทารกแรกเกิดอย่างน้อย 3 แผ่นต่อวัน ราคาการอบฆ่าเชื้อแผ่นละ 30 บาท เสียค่าใช้จ่ายเท่ากับ 90 บาทต่อวัน
.
การศึกษาลักษณะและสมบัติทางกายภาพของผ้าที่เหมาะสมสำหรับการออกแบบหมวกทารกได้รับรางวัลระดับดีเด่น (Gold Award) สาขามนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ การนำเสนอผลงานภาคบรรยายโดดเด่นระดับชาติ The best Oral Presentation 2023 ในการประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 13 ณ ศูนย์ประชุมนงนุชเทรดดิชั่นเซ็นเตอร์ฮอลล์ สวนนงนุชพัทยา สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหมวกหมวกคลุมศีรษะทารกแรกเกิดสำหรับเข้ารับการส่องไฟ แบบมัดเชือกใต้คาง ติดต่อได้ที่ นายชนัญชิดา ณะสม โทร. 062-232-3906

RANDOM

สภาดิจิทัลฯ ชง “มาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา” ช่วยนักเรียนยากจนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ที่ประชุม ครม. รับลูก แทงเรื่องให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อ

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!