สำนักงาน ก.พ. จะดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อรับทุนเล่าเรียนหลวง ประจำปี 2567 จึงประกาศรับสมัครสอบแข่งขัน พร้อมทั้งกำหนดหลักสูตรและวิธีการสอบแข่งขันเพื่อรับทุนดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ทุนเล่าเรียนหลวง
กำหนดให้มีทุนเล่าเรียนหลวงพระราชทานแก่นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งมีผลการเรียนยอดเยี่ยม จำนวน 3 หน่วย 9 ทุน ดังนี้
หน่วยที่ 670120101 จำนวน 5 ทุน
หน่วยที่ 670120102 จำนวน 2 ทุน
หน่วยที่ 670120103 จำนวน 2 ทุน
ผู้ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงต้องไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ โดยจะเลือกเรียนวิชาใด ณ สถาบันอุดมศึกษาแห่งใดก็ได้ ซึ่ง ก.พ. จะเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบโดยพิจารณาจากความประสงค์ คุณวุฒิ คุณลักษณะของผู้ได้รับทุน และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะต้องกลับมาปฏิบัติงานในประเทศไทย
2. ข้อผูกพันในการรับทุน
2.1 ผู้ได้รับทุนจะต้องกลับมาปฏิบัติงานในประเทศไทยเป็นระยะเวลาเท่ากับระยะเวลาในการรับทุน
2.2 กรณีผู้ได้รับทุนไม่กลับมาปฏิบัติงานในประเทศไทย จะต้องชดใช้เงินคืนเท่ากับจำนวนเงินทุนที่ได้รับไป
คุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครสอบ
3.1 มีคุณสมบัติทั่วไป และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ยกเว้นคุณสมบัติทั่วไปในเรื่องอายุตามมาตรา 36 ก. (2) ผู้สมัครมีอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้
3.2 มีอายุไม่เกิน 20 ปี นับถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2566
3.3 กำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีสุดท้ายของหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย ประจำปีการศึกษา 2566 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และ ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2560 ของ กระทรวงศึกษาธิการ หรือ หลักสูตรอื่นที่กระทรวงศึกษาธิการรับรองว่าเทียบเท่า โดยได้คะแนนเฉลี่ยสะสมในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายรวมทุกภาคการศึกษาที่ผ่านมา ไม่ต่ำกว่า 3.50 และเมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว จะต้องได้คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย ไม่ต่ำกว่า 3.50 (ในระบบการวัดผลที่คิดคะแนนให้ A=4, B=3, C=2, D=1, E หรือ F=0)
ผู้สมัครสอบที่มีคะแนนเฉลี่ยสะสมรวมทุกภาคการศึกษาที่ผ่านมา หรือ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จะต้องมีหนังสือรับรองผลการเรียนจากสถานศึกษามาแสดงว่าเป็นผู้มีผลการเรียนเทียบเท่ากับผลการเรียนที่กำหนดไว้ หากผู้ใดไม่มีหนังสือรับรองผลการเรียนมาแสดง จะถือว่าไม่มีสิทธิในการสมัครสอบครั้งนี้
3.4 ไม่สอบตกในวิชาหนึ่งวิชาใดตลอดหลักสูตรชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
3.5 มีศีลธรรม และความประพฤติดี
3.6 ไม่อยู่ในระหว่างการรับทุนที่มีสัญญาผูกพันในการปฏิบัติงานชดใช้ทุน หรือ ตอบแทนทุนใด ๆ ยกเว้นจะได้รับอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของทุนให้สมัครสอบได้ และได้ส่งหนังสืออนุญาตดังกล่าวให้สำนักงาน ก.พ. ภายในวันสอบข้อเขียน
3.7 ผู้สมัครสอบผู้ใดไม่มีคุณสมบัติทั่วไป หรือ มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 3.1 ไม่มีสิทธิเข้าสอบ หรือ ได้รับทุน
4. การรับสมัครสอบ
4.1 ผู้ประสงค์จะสมัครสอบ ดูรายละเอียดทางอินเทอร์เน็ตในเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ. ที่ http://www.ocsc.go.th, http://scholar2.ocsc.go.th พร้อมทั้งสามารถพิมพ์แบบฟอร์มที่ใช้ในการสมัครสอบได้ในเว็บไซต์ดังกล่าว
4.2 กำหนดวันรับสมัครสอบ และวิธีการสมัคร
– ผู้ประสงค์จะสมัครสอบ สมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึง วันที่ 25 ตุลาคม 2566 ทางอินเทอร์เน็ตตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ ตามขั้นตอน ดังนี้
(1) เปิดเว็บไซต์ http://scholar2.ocsc.go.th
(2) กรอกข้อความให้ถูกต้องและครบถ้วน ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนด ระบบจะออกเลขประจำตัวสอบ และ แบบฟอร์มการชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้โดยอัตโนมัติ
(3) พิมพ์ใบสมัครและแบบฟอร์มการชำระเงินลงในกระดาษขนาด A4 จำนวน 3 แผ่น หรือ หากไม่มีเครื่องพิมพ์ในขณะนั้น ให้บันทึกข้อมูลเก็บไว้ในรูปแบบ File ลงในสื่อบันทึกข้อมูล
ในกรณีที่ไม่สามารถพิมพ์ใบสมัครและแบบฟอร์มการชำระเงิน หรือ บันทึกข้อมูลได้ ผู้สมัครสอบสามารถเข้าไปพิมพ์ใบสมัครและแบบฟอร์มการชำระเงิน หรือ บันทึกข้อมูลลงในสื่อบันทึกข้อมูลใหม่ได้อีก แต่จะไม่สามารถแก้ไขข้อมูลในการกรอกใบสมัครในครั้งแรกที่สมบูรณ์แล้วได้
– นำแบบฟอร์มการชำระเงินไปชำระเงินเฉพาะที่เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทุกสาขาทั่วประเทศ ชื่อบัญชี “ค่าธรรมเนียมสอบทุนของ ก.พ.” ตั้งแต่วันที่สมัครสอบ จนถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2566 ภายในเวลาทำการของธนาคาร การสมัครสอบจะมีผลสมบูรณ์ เมื่อชำระค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบแล้ว
– ค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบ ประกอบด้วย
(1) ค่าธรรมเนียมสอบ หน่วยละ 100 บาท
(2) ค่าธรรมเนียมธนาคารรวมค่าบริการทางอินเทอร์เน็ต จำนวน 30 บาท
ค่าธรรมเนียม ฯ จะไม่จ่ายคืนให้ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
– ผู้สมัครสอบสมัครได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
– การสมัครสอบตามขั้นตอนข้างต้น ถือว่าผู้สมัครสอบเป็นผู้ลงลายมือชื่อ และรับรอง
ความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ดังนั้น หากผู้สมัครสอบจงใจกรอกข้อมูลอันเป็นเท็จ อาจมีความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ตามประมวล
กฎหมายอาญา มาตรา 137
4.3 เอกสารและหลักฐานที่ต้องยื่นในวันสอบข้อเขียน
– ใบสมัครที่พิมพ์จากอินเทอร์เน็ต ติดรูปถ่ายหน้าตรงขนาด 1 x 1.5 นิ้ว ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่นตาดำ ถ่ายไว้ไม่เกิน 1 ปี นับถึงวันปิดรับสมัคร ลงลายมือชื่อในใบสมัครให้ครบถ้วน
– สำเนาระเบียนแสดงผลการเรียนรวมทุกภาคการศึกษาที่ผ่านมาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 1 ชุด
– หนังสือรับรองความประพฤติและความเหมาะสมในการสมัครรับทุนจากอาจารย์ประจำชั้น หรือ ผู้อำนวยการโรงเรียน (ตามแบบฟอร์ม สนง. ก.พ. 1)
– หนังสืออนุญาตให้มาสมัครสอบจากหน่วยงานเจ้าของทุน กรณีผู้สมัครตามข้อ 3.5
– สำเนาทะเบียนบ้าน หรือ สูติบัตร หรือ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน อย่างใดอย่างหนึ่ง จำนวน 1 ชุด
สำเนาเอกสารทุกฉบับให้เขียนรับรอง“สำเนาถูกต้อง”ลงชื่อ วันที่ ระบุเลขประจำตัวสอบกำกับไว้ที่มุมบนด้านขวาของเอกสารทุกฉบับ และให้บรรจุเอกสารดังกล่าวในซองเอกสารขนาด A4 เขียนชื่อ – นามสกุล เลขประจำตัวสอบไว้ที่หน้าซอง
4.4 ในการสมัครสอบ ผู้สมัครสอบจะต้องตรวจสอบและรับรองตนเองว่ามีคุณสมบัติตรงตามประกาศรับสมัครสอบจริง รวมทั้งกรอกรายละเอียดต่าง ๆ ให้ถูกต้องครบถ้วน ตรงตามความเป็นจริง หากปรากฏภายหลังว่า ผู้สมัครสอบผู้ใดมีคุณสมบัติไม่ตรงตามประกาศรับสมัครสอบ หรือ มีความผิดพลาดอันเกิดจากผู้สมัครสอบ จะถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการสมัครสอบในครั้งนี้มาตั้งแต่ต้น และจะไม่คืนค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบ
หากมีปัญหาเกี่ยวกับการสมัครสอบ หรือ ปัญหาอื่น สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 02-547-1903 , 1907, 1910, 1911, 1916, 1955 หรือ หากมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการสมัครสอบ สามารถติดต่อได้ที่ Call Center โทร. 02-697-0999 กด 1 กด 501 ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น. โทรสาร. 02-547-1346
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://shorturl.asia/UYpJj