คณะเทคนิคการแพทย์ ร่วมกับ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาคเอกชน จัดโครงการพัฒนาส่งเสริมการผลิตเตียงพลิกตัวต้นทุนต่ำสำหรับผู้ป่วยติดเตียงโดยชุมชน ภายใต้โครงการ CIGUS
ปัจจุบันสังคมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบแล้ว และ โรค NCDs หรือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม ซึ่งอัตราโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีการวิเคราะห์และพัฒนาร่วมกันระหว่าง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.ดร.วิชัย อึงพินิจพงศ์ ผู้คิดค้นผลงานนวัตกรรม : “เตียงอัจฉริยะ ช่วยพลิกตะแคง” และ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผศ.ดร.สุรกานต์ รวยสูงเนิน เกิดเป็น โครงการ “พัฒนาส่งเสริมการผลิตเตียงพลิกตัวต้นทุนต่ำสำหรับผู้ป่วยติดเตียงโดยชุมชน” ภายใต้ โครงการ CIGUS (C – community, I – industry, G – government, U – university, S – society) เป็นการนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในชุมชน โดยโครงการดังกล่าวได้จัดขึ้นจำนวน 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นในวันที่ 21 – 22 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา และ ครั้งที่ 2 จัดขึ้น ในวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ณ ตำบลบ้านโต้น อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น
โดยครั้งแรกคณะทำงาน ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้ และการสร้างเตียงฯ ให้แก่ประชาชน ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ส่วนครั้งที่ 2 คณะเทคนิคการแพทย์ นำโดย ผศ.ดร.อมรรัตน์ จำเนียรทรง รองคณบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ พร้อมด้วย ศ.ดร.วิชัย อึงพินิจพงศ์ ได้ร่วมมอบเตียงพลิกตัวฯ ให้กับเทศบาลตำบลบ้านโต้น จำนวน 3 เตียง และเทศบาลตำบลหนองแวง จำนวน 2 เตียง รวม 5 เตียง พร้อมบรรยายให้ความรู้แก่ประชาชนในหัวข้อ “การให้ความรู้และวิธีการใช้เตียงพลิกตัวฯ” โดย ศ.ดร.วิชัย อึงพินิจพงศ์ เรื่อง “วิธีการสร้างเตียงพลิกตัวฯ” โดย ผศ.ดร.สุรกานต์ รวยสูงเนิน และ เรื่อง “การให้ความรู้การดูแลผู้ป่วยติดเตียงพลิกตัวฯ” โดย อ.ดร.วรวุฒิ ชมภูพาน