นักธรณีวิทยา จุฬาฯ พบหลักฐานใหม่ เผย มีการอยู่อาศัยของคนโบราณบนเขาพนมรุ้ง-เขาปลายบัด จ.บุรีรัมย์

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ คณาจารย์จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สำรวจพบกองหินและแนวหินจำนวนมากบนเขาพนมรุ้ง-ปลายบัด อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งในทางธรณีวิทยา แปลความหมายได้ว่า ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นกิจกรรมของมนุษย์ในอดีต

ศ.ดร.สันติ ให้ข้อมูลว่า ในทางธรณีวิทยา เขาพนมรุ้ง และเขาปลายบัด อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ เป็นภูเขาไฟยุคควอเทอร์นารี เกิดจากการประทุและไหลหลากของลาวาเมื่อประมาณ 1 ล้านปีก่อน เมื่อลาวาเย็น และแข็งตัวจะกลายเป็น “หินบะซอลต์” (basalt) ซึ่งมีทั้งแบบบะซอลต์เนื้อแน่น (massive basalt) บะซอลต์รูพรุน (vesicular basalt) และ สคอเรีย (scoria) ที่มีรูพรุนมากคล้ายฟองน้ำ ซึ่งเกิดจากความแตกต่างของปริมาณก๊าซที่มีอยู่ในมวลลาวา และรายละเอียดทางธรณีวิทยาของการประทุในแต่ละครั้ง

ภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google Earth แสดงภูมิลักษณ์ของเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นภูเขาไฟลูกโดดกลางที่ราบใน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์

หินบะซอลต์ที่สามารถพบได้บนเขาพนมรุ้ง และเขาปลายบัด อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ เกิดจากการประทุของลาวาสีเข้มในสภาพแวดล้อมการประทุที่แตกต่างกันในแต่ละเหตุการณ์ ส่งผลให้ได้หินที่มีองค์ประกอบแร่เหมือนกัน แต่เนื้อหินแตกต่างกัน

จากการลงพื้นที่สำรวจ ทั้งเขาพนมรุ้ง และเขาปลายบัด ศ.ดร.สันติ และ ทีมนักวิจัย พบว่า โดยธรรมชาติจะมีก้อนหินบะซอลต์หลากหลายขนาดกระจายแบบสุ่มอยู่เต็มพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สันติ ตั้งข้อสังเกตว่า ในบางพื้นที่มีก้อนหินบะซอลต์กองรวมกันอยู่อย่างหนาแน่นเป็นชั้น ๆ 2 – 3 ชั้น กองเป็นเนินขนาดเล็กบ้าง กองสูงท่วมหัวบ้าง และในหลาย ๆ ที่ยังพบลักษณะคล้ายกับว่า มีการจัดวางและเรียงก้อนบะซอลต์เป็นแนวยาว 150 – 200 เมตร บนเขาปลายบัด หรือ เป็นรูปทรงคร่าว ๆ ซึ่งไม่เป็นไปตามธรรมชาติทางธรณีวิทยา

กลุ่มหินบะซอลต์ขนาดเท่าลูกฟุตบอลโดยประมาณ ถูกวางจัดเรียงเป็นแนวอย่างไม่เป็นธรรมชาติ บนเขาปลายบัด

นอกจากการกองรวมกันเป็นเนินเป็นแนวแล้ว อีกข้อสังเกตทางธรณีวิทยาที่น่าสนใจ คือ เนินหรือแนวมักจะเกิดจากการกองรวมกันของหินบะซอลต์ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน และเป็นขนาดพอเหมาะที่มนุษย์จะสามารถยกย้ายได้ อนุมานว่า ก้อนหินบะซอลต์เหล่านี้อาจจะผ่านการคัดขนาดเป็นอย่างดี เพื่อให้เหมาะที่จะนำมาใช้ หรือ นำมากอง

กองหินบะซอลต์ ที่วางตัวเป็นรูปตัว U คล้ายกับเป็นภาชนะไว้กักเก็บน้ำที่ไหลมาจากร่องน้ำเล็ก ๆ บนเขาพนมรุ้ง

นอกจากนี้ กลุ่มหินบะซอลต์ในแต่ละเนินหรือแนวหินบะซอลต์ จะประกอบไปด้วย หินบะซอลต์หลากหลายเนื้อหิน ทั้งหินบะซอลต์เนื้อแน่น หินบะซอลต์รูพรุน รวมถึง หินสคอเรีย รวมกันอยู่ในเนินหรือแนวเดียวกัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในมิติทางธรณีวิทยา เนื่องจากเนื้อหินจะแตกต่างกัน ก็ต่อเมื่อเกิดจากการประทุของภูเขาไฟคนละเหตุการณ์ที่ไหลหลากกันคนละพื้นที่

แนวกองหินบะซอลต์ ประกอบด้วย หินบะซอลต์เนื้อหินหลากหลาย ทั้งบะซอลต์เนื้อแน่น บะซอลต์มีรูพูน และ สคอเรีย

จากการสืบค้นเชิงเอกสารในแหล่งโบราณคดีพื้นที่อื่น พบว่า มีพฤติกรรมการกองหินเป็นแนวนี้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ในพื้นที่แหล่งโบราณคดีทางตอนเหนือของรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ศ.ดร.สันติ จึงสรุปว่า กองหรือแนวหินบะซอลต์ที่พบบนเขาพนมรุ้ง และเขาปลายบัด เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ที่คัดเลือกหินขนาดพอเหมาะ รวบรวม และเคลื่อนย้ายมาก่อรวมกัน เพื่อการก่อสร้าง หรือ เพื่อวัตถุประสงค์อะไรบางอย่าง นอกจากปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทเขาปลายบัด 1  และ ปราสาทเขาปลายบัด 2 ที่ตั้งอยู่บนยอดภูเขาแล้ว ภายในป่าพื้นที่โดยรอบบนเขาทั้งสองลูก ยังมีการใช้พื้นที่และอยู่อาศัยของคนในอดีตเช่นกัน

สภาพกองหินในแหล่งโบราณคดี ทางตอนเหนือของรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา (ที่มา : Jordan Luebben) ซึ่งมีพฤติกรรมเช่นเดียวกับกองหินบะซอลต์ที่พบบนเขาพนมรุ้ง และเขาปลายบัด จ.บุรีรัมย์

รายชื่อทีมสำรวจ : สันติ ภัยหลบลี้, กังวล คัชชิมา, สมบัติ มั่งมีสุขศิริ, อุเทน วงศ์สถิตย์, ปัญญา จารุศิริ, ปัญญา นากระโทก, จักรกริช อุดรพิมพ์, และ ตามศักดิ์ วงศ์มุนีวร

RANDOM

สำนักงาน ก.พ. เชิญชวนผู้สนใจศึกษาต่อต่างประเทศ เข้าร่วมงาน “มหกรรมการศึกษาต่อต่างประเทศ ครั้งที่ 19” (OCSC International Education Expo 2024) วันที่ 26 – 27 ตุลาคม นี้ ณ พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!